วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

การประนอมข้อพิพาท มีกฎหมายให้อำนาจมานานแล้ว


                    ผู้เขียนมีหนังสือเก่าๆ ที่เกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาททั้งของสภาทนายความ คือ "คำบรรยายทนายความผู้ทำหน้าที่ไกล่กลี่ยข้อพิพาท" จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  สภาทนายความ   และของอัยการ คือ คู่มือประนอมข้อพิพาท จัดทำโดย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) กรมอัยการ(ขณะนั้น) จึงอยากแบ่งปันความรู้และความคิดความเข้าใจของผู้เขียนในเรื่องนี้แก่ผู้สนใจด้วย  เผื่อที่จะมีการโต้แย้งหรือแตกความคิดออกไปให้หลากหลาย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำหน้าที่ "ผู้ไกล่เกลี่ยฯ" ต่อไป

                    การประนอมข้อพิพาท มีกฎหมายให้อำนาจมานานแล้ว เพียงแต่ที่มาที่ไปของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและผลของการประนีประนอมข้อพิพาทที่ได้เกิดขึ้น จะแตกต่างกับผลของการประนีประนอมตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ยกตัวอย่างเช่น
                อำนาจการประนอมข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗
                    ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ นี้  บัญญัติให้นายอำเภอมีอำนาจประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้อยู่ก่อนแล้ว แต่หากคู่กรณีที่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน(สมัยนั้นเรียก ว่า ใบยอมความ)นั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสัญญาประนีประนอมไปยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อีกครั้ง
                        กฎหมายนี้ บัญญัติให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ประนอมข้อพิพาทด้วยตนเอง
           
                  ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒  (อพป.)
                      ให้หมู่บ้านฯ มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน มีผู้ช่วยฯ กรรมการสภาตำบล ผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านเป็นกรรมการกลางในการประนอมข้อพิพาท

                  ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔
                        มีกรรมการที่แต่งตั้งฯ เป็นผู้ประนอมข้อพิพาท

          อำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของ คณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐
                              ให้คณะกรรมการหมู่บ้านนั้นๆ มีอำนาจทำการประนอมข้อพิพาททางแพ่งหรืออาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้
                        คณะกรรมการหมู่บ้าน มีขึ้นตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๘ ตรี(แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๔๒) ซึ่งระบุให้แต่ละหมู่บ้านมีคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน  โดยคณะกรรมการหมู่บ้านนี้จะประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง กับบุคลที่ราษฎรเลือกตั้งเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนตามที่นายอำเภอเห็นสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน

การประนอมข้อพิพาทตามกฎหมายเดิมๆ ข้างต้นนี้ เมื่อคู่กรณีทำสัญญาประนอมข้อพิพาทกันแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม   อีกฝ่ายต้องนำสัญญาประนอมข้อพิพาทนั้นไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนอมข้อพิพาทอีกครั้งหนึ่ง

          แต่สำหรับกฎหมายใหม่ล่าสุดคือกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ หากมีทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามกฎหมายใหม่ตามที่จะกล่าวต่อไปนี้แล้ว สัญญาประนีประนอมดังกล่าว ถือเทียบเท่าได้กับคำพิพากษา(ตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาล) โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม(พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ คือการที่คู่กรณีที่พิพาทกันตกลงที่จะให้ตั้งบุคคลที่น่าเชื่อถือเข้ามาเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคล้ายๆ กับเป็นองค์คณะผู้พิพากษา มาเป็นผู้พิจารณาเพื่อตัดสินชี้ขาดเรื่องที่พิพาทโดยจะไม่นำเรื่องไปฟ้องร้องกันที่ศาล คงอาจเพราะในเรื่องพิพาทบางเรื่อง ผู้พิพากษาของศาลอาจไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างดี การพิจารณาคดีจึงอาจไม่เข้าได้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง  คู่กรณีจึงตกลงให้ใช้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาเพื่อชี้ขาด (จะใช้คำว่าชี้ขาด  ไม่ใช้คำว่าพิพากษา) การตกลงใช้อนุญาโตตุลาการนี้ มักจะใช้โดยคู่กรณีที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ปัญหาเยอะ  ยุ่งยาก มีเรื่องของเทคนิคมากมายที่คู่กรณีเห็นว่าผู้พิพากษาอาจเข้าใจไม่ถึง  ซึ่งหากตกลงกันได้จนมีการทำสัญญาประนีประนอมกันแล้ว ก็ให้ใช้บังคับกันได้ตามที่ตกลงกันเลย หรือหากตกลงกันไม่ได้ก็ให้คณะอนุญาโตตุลา การพิจารณาและชี้ขาด (ก็พิจารณาเรื่องกันแบบศาลพิจารณาคดีนั่นแหละ  แต่เลี่ยงคำวลีไม่ให้ตรงกับที่หมายถึงศาล) ไม่ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลอีก เช่นบริษัทสร้างทางด่วนฯ ฟ้องการทางพิเศษ เรื่องที่การเก็บค่าทางด่วน หรือเรื่องระหว่างบริษัทใหญ่ๆ พิพาทกัน แล้วตกลงให้ใช้อนุญาโตตุลาการ จนมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือมีคำชี้ขาดให้แต่ละฝ่ายจะต้องปฏิบัติอย่างใดบ้าง ซึ่งก็เทียบเท่ากับคำพิพากษาของศาลเลยทีเดียว หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามแล้ว  อีกฝ่ายก็ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการบังคับตามสัญญาประนีประนอมหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เลย ไม่ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณากันใหม่อีก) ไม่ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลกันใหม่

                        เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้อำเภอทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทนี้ โดยให้กระทรวงทำการกำหนดหลักเกณฑ์ ต่างๆ ขึ้น   ก็ได้มีประกาศกฎกระทรวง ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓  โดยให้มีผลใช้บังคับกันตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔  (บังคับเรื่องการไกล่เกลี่ยนี้แหละ)

                        การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ตามแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ นี้  ให้นายอำเภอเปิดรับสมัครบุคคลในท้องที่ที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ทำเป็นบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คนเพื่อทำการคัดเลือกเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” เสนอคณะกรมการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้เป็น ”ผู้ไกล่เกลี่ย” ประจำอำเภอนั้นๆ (ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ย และประยอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓)
                       การจะไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามกฎหมายใหม่นี้  บัญญัติไว้ว่า ต้องคู่พิพาท(ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  เรียกว่า คู่กรณี)ประสงค์ที่จะให้นายอำเภอทำการไกล่เกลี่ยให้ นายอำเภอก็จะให้คู่พิพาททุกฝ่ายเลือกผู้ที่ตนประสงค์จะให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้จากบัญชีรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยและเลือกว่าจะให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย (เพราะกฎหมายบัญญัติให้ผู้ไกล่เกลี่ยมีเป็นคณะ ในคณะมีมากกว่า ๒ คน  แต่ต้องมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอหรืออัยการเป็นหัวหน้าคณะทุกคณะ จะเห็นว่าคล้ายๆ กับองค์คณะของผู้พิพากษาเลย)
                        เมื่อคณะผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทจนสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว หากคู่พิพาทฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้  กฎหมายนี้ให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามต่อไป
                       แต่หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ประสงค์จะให้นายอำเภอไกล่เกลี่ยหรือเพิกเฉยไม่มาไกล่เกลี่ยหรือไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ กฎหมายก็ให้นายอำเภอจำหน่ายเรื่องที่พิพาทนั้นๆ ออกจากสารบบ คู่พิพาทนั้นก็ต้องไปทำการฟ้องร้องคดีต่อศาลกันเองต่อไป

อนึ่ง  ข้อพิพาทที่ตกลงไกล่เกลี่ยกันได้จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จะบังคับกันได้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทาทางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ ฉบับนี้ คือหากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายจะไปร้องต่ออัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาลออกคำบังคับได้เลยนั้น ต้องไกล่เกลี่ยโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยที่ตั้งโดยนายอำเภอเท่านั้น




                    ข้อเขียนข้างต้นนี้ ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความเข้าใจของผู้เขียนเอง หากมีส่วนใดที่ผู้เขียนเข้าใจผิด ก็อยากจะได้รับการท้วงติงหรือโต้แย้งหรือแตกความคิดออกไปให้หลากหลาย เพื่อที่จะมีการแก้ไข ปรับปรุง หรือหาข้อยุติ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำหน้าที่ "ผู้ไกล่เกลี่ยฯ" ต่อไป

                                                                                                        //Peacemaker52


                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น