วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ให้เช่าห้องแล้วต่อมาคนเช่าไม่จ่ายค่าเช่า เจ้าของบ้านจะไปงัดกุญแจขนของออกมาได้หรือไม่


         นายไก่เจ้าของบ้าน ได้ให้นายไข่เช่าห้อง  ต่อมานายไข่ไม่ชำระค่าเช่า  ทวงถามอย่างไรก็ไม่ยอมจ่าย นายไก่จึงนำกุญแจเปลี่ยนใส่ห้องพิพาทแทนกุญแจของนายไข่ และเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินในห้องพิพาทออกไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ ทั้งนี้นายไก่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นพยานในการขนย้ายทรัพย์สินด้วยจำนวน 3 นาย  นายไข่จึงแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี  ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลลงโทษนายไก่และเจ้าพนักงานตำรวจฐานร่วมกันบุกรุก  ตาม ป.อาญา มาตรา 362,  362(2)

         ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า นายไก่แม้จะเป็นเจ้าของห้องเช่า แต่เมื่อให้นายไข่เช่าแล้ว นายไข่ย่อมมีสิทธิครอบครองห้องเช่าตามสัญญาเช่า  เมื่อนายไข่ไม่ชำระค่าเช่า นายไก่จะต้องฟ้องร้องนายไข่เสียก่อน  จะมาใช้อำนาจงัดกุญแจเข้าไปในห้องที่ให้นายไข่เช่าโดยพลการไม่ได้  นายไก่จึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 362  ให้ปรับ 2,000 บาท

         ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุได้ไปที่ห้องพิพาทนั้น เป็นเพียงการไปเป็น พยานรู้เห็นในการขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยสำคัญผิด ว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำความผิด การกระทำของตำรวจทั้งสามนายจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตาม ป.อาญา มาตรา 365 (2) ให้ยกฟ้อง

(แนวฎีกาที่ 5785/2544)

...................... 

ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

          มาตรา 362  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 365  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา  362 มาตรา 363  หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
          (1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือ
          (3) ในเวลากลางคืน
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

............................. 

         นี่ก็เป็นปัญหาที่เจอกันบ่อย  จะให้ใครเช่าบ้านเช่าห้อง ต้องเลือกต้องคัดให้ดี ว่าเขามีรายได้พอที่จะชำระค่าเช่าได้ประจำ อาจไม่ทุกเดือนก็ได้ ยังไงๆ ก็คงมีบ้างที่ขอผัดค่าเช่า ก็หมั่นทวงถามเอาหน่อย เพราะบางทีคนที่เช่าบ้านเราอาจไปเป็นหนี้คนอื่น หนี้นอกระบบ ใครทวงก่อนได้ก่อน  เราก็ต้องขยันทวงนะครับ ดั่งเช่นสุภาษิตที่ว่า “นกที่ออกหากินแต่เช้า ย่อมได้หนอนก่อน”

         หากเจอกรณีผู้เช่าบ้านหรือเช่าห้องไม่จ่ายค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออก ทั้งทนทั้งอึด เราต้องฟ้องขับไล่และให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนนะครับ  ถึงตอนนั้นมีกฎหมายรองรับว่าหากผู้เช่ายังไม่ยอมออกไปอีก ก็จะถูกจับกุมคุมขังได้ครับ

                                              .......................................................



วันที่ 16 ธันวาคม 2555  เวลา 9.26 น.
         เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับบริษัทของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนธุรกิจมีการเช่าห้องไว้และได้ปล่อยให้เช่าช่วงเพื่อเอากำไรจากส่วนต่างของค่าเช่า เมื่อผู้เช่าช่วงค้างค่าเช่าหลายเดือนและไม่ยอม ออกจากห้องเช่า จึงได้ฟ้องขับไล่ ศาลพิพากษาให้ผู้เช่าออกพร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท แต่ผู้เช่าก็ไม่ยอมออก แถมปิดห้องแล้วหายตัวไป ครั้นจะดำเนินการต่อไปในชั้นบังคับคดี ขั้นตอนก็มาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เลยหาวิธีเข้าทางลัดไป แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าจะไปเปิดห้องที่ให้เช่านี้และขนย้ายทรัพย์ของผู้เช่าพร้อมขอเจ้าพนักงานตำรวจสองนายร่วมเดินทางไปเป็นพยานด้วย ไปถึงก็ตัดกุญแจ ถ่ายภาพทรัพย์และทำบัญชีทรัพย์ทุกชิ้น ขนย้ายไปเก็บไว้ยังห้องเก็บของในบริเวณห้องเช่า แล้วพากันกลับไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินของผู้เช่าอีกครั้ง แล้วทำการติดต่อผู้เช่าให้มาตรวจและรับเอาทรัพย์สินคืนไปพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายตามที่ศาลพิพากษา

         การแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานการมีเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นพยานของผู้เขียนนี้ หากผู้เช่าจะเอาเรื่อง ก็มิได้ทำให้หลุดจากข้อหาบุกรุกไปได้ แต่เนื่องจากบริษัทเสียประโยชน์ที่นอกจากจะไม่ได้ค่าเช่าจากผู้เช่าแล้ว บริษัทยังจะต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่เจ้าของห้องทุกเดือนมาตลอด ก็ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้เขียนเลือกวิธีลัดเพราะเร็วกว่ามาก แม้จะเสี่ยงก็ตาม โชคดีที่ผู้เช่าไม่แจ้งความเอาเรื่อง แถมยังบอกให้เอาทรัพย์สินของผู้เช่าที่เก็บรักษาไว้นั้นออกจำหน่ายนำเงินมาชำระค่าเสียหายได้เลย แต่ก็ต้องให้ผู้เช่าทำหนังสือยินยอมให้จำหน่ายเป็นหลักฐานก่อน ถึงจำหน่ายทรัพย์ออกไปได้ ไม่งั้นอาจโดนย้อนศรข้อหาลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ได้อีก

         ปวดหัวนะครับ กับพวกที่ค้างค่าเช่าแล้วไม่ยอมออกไปน่ะ
                                           .............................................................
 
17  ธันวาคม 2555  เวลา 10.30  น.

         เมื่อปีที่แล้ว มีเจ้าของห้องเช่าเล็กๆ ระดับค่าเช่าไม่เกิน 1.000 บาทอยู่แห่งหนึ่ง มาปรึกษาผู้เขียนว่าผู้เช่ารายหนึ่งปิดห้องไม่อยู่บ้านมา 3 เดือนแล้ว ค่าเช่าก็ไม่จ่าย โทร.ติดต่อไปก็บอกไปทำงานต่างจังหวัด ยังจะมาพักอยู่ แต่ไม่ยอมโอนค่าเช่าที่ค้างมาให้ พอโทร.ทวงบ่อยๆ เข้าก็ไม่ยอมรับโทรศัพท์  ผู้เขียนเลยแนะนำให้ไปบอกผู้ใหญ่ บ้านกับตำรวจแถวบ้านมาเป็นพยานในการตัดกุญแจ ทำบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งพบจักรยานยนต์เก่าๆ 1 คัน ชุดเครื่องเสียงระดับล่าง 1 ชุด ตู้เย็นขนาดเล็ก กองเสื้อผ้าเก่าๆ เหม็นๆ อีก 1 กองใหญ่  ก็เก็บรวบรวมใส่กล่องใส่ถุงไว้ในห้องว่างของเจ้าของห้อง และเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ซะเลย ไม่ได้แนะนำให้ไปลงประจำวันเพราะเห็นว่าไม่พ้นผิดหากคนเช่าจะแจ้งความ  แต่เห็นว่าเจ้าของห้องต้องการมีรายได้ทุกเดือนจากห้องที่ให้เช่า งั้นมาอ่านใจแล้วเสี่ยงกันดีกว่า  ผู้เขียนลองใช้โทรศัพท์ของผู้เขียนโทร.ไป เขาก็รับทันที คงเพราะเป็นเบอร์แปลก  เขาบอกไปเกิดอุบัติเหตุขาหักกำลังจะออกจากโรงพยาบาล เดี๋ยวจะโอนเงินค่าเช่าที่ค้างมาให้ แล้วจะให้ญาติมารับทรัพย์สินกลับไป

         จนป่านนี้ ปีเศษแล้วยังไม่มาเลย ขาที่หักก็คงหายดีแล้ว  ถ้าเป็นปลาดาวปลาหมึก ก็อาจมีขางอกออกมาใหม่อีกด้วย ทรัพย์ที่เอาไปเก็บไว้ก็กลายภาระ มากินเนื้อที่ที่ควรจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น  จะเอาไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชำระค่าเช่าห้องที่ค้างก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายให้ได้แค่สิทธิยึดหน่วงเท่านั้น  ครั้นจะเอามาใช้ก็เกรงว่าทรัพย์จะเสื่อมสภาพ กลายเป็นเจ้าของห้องต้องใช้ค่าเสื่อมสภาพ ค่าเสียหายให้เขาไปซะอีก  เลยต้องจำทนเก็บไว้แบบไม่อยากรักษาต่อไป เพราะทรัพย์พวกนี้จะตกรุ่นไปทุกๆ ปี เสื้อผ้าที่เหม็นก็ให้ใส่ถุงพลาสติกใส่กล่องยกออกไปไว้ที่เพิงนอกบ้าน  แล้วรอจนกว่าเขาจะมาเอาหรือจนกว่าแน่ใจว่าเขาจะไม่มาเอาให้ชัดเจนกว่านี้ แล้วค่อยว่ากันใหม่

         กรรมมั๊ยครับ
                               ............................................................
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น