วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553


สรุปสาระสำคัญ

กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 

                   1. นิยามสำคัญ (ข้อ 2)
                             ข้อพิพาท หมายความว่า ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มี ทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
                                 ผู้ไกล่เกลี่ย หมายความว่า บุคคลที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
                       2. ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 11)
                       เมื่อคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ให้แจ้ง ความประสงค์เป็นคำร้องขอต่อนายอำเภอ (จัดทำเป็นหนังสือหรือแจ้งด้วยวาจา) เมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องแล้ว ให้แจ้งคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งทราบและสอบถามว่าประสงค์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทหรือไม่
                                2.1   กรณีที่คู่พิพาททุกฝ่ายตกลงยินยอมเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอแจ้งเป็นหนังสือให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบพร้อมทั้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ ให้คู่พิพาททุกฝ่ายมาพร้อมกัน เพื่อเลือกผู้ไกล่เกลี่ยของตน โดยเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ ตามที่นายอำเภอโดยความเห็นชอบของ คณะกรมการจังหวัดได้จัดทำขึ้น และร่วมกันเลือกว่าจะให้นายอำเภอ พนักงานอัยการจังหวัดประจำกรมหรือปลัดอำเภอ เป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยและให้จัดมีการบันทึกความตกลงยินยอมไว้ในสารบบการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท พร้อมทั้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ โดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยจะมีการประชุมภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีผู้ไกล่เกลี่ยครบถ้วน เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องขอนั้นไว้ดำเนินการต่อไป หรือไม่รับไว้พิจารณาและให้ยุติเรื่อง (ข้อ 12)
                                2.2   กรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอจำหน่ายคำร้องขอฯ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
                       3. สถานที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 13 วรรคแรก)
                       ปกติให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ แต่ในกรณีจำเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยจะกำหนดให้ดำเนินการ ณ สถานที่ราชการอื่นก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่พิพาททราบล่วงหน้าตามสมควร
                       4. การดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 13 วรรคสอง)
                              4.1    นัดไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งแรก ให้อำเภอส่งหนังสือนัดหมายแจ้งวัน เวลา และสถานที่ ไปยังคณะผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาททุกฝ่ายภายใน 7 วันนับแต่วันที่คณะผู้ไกล่เกลี่ยรับคำร้องขอฯ

                               4.2    นัดไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งต่อๆ ไป ให้ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยเป็นผู้กำหนดและแจ้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ และบันทึกการนัดหมายไว้ในสารบบฯ     
                             4.3   ถ้าคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายไม่มาตามกำหนดที่ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยนัดหมายโดยไม่แจ้งเหตุผล หรือไม่ขอเลื่อนวันนัดหมาย หากเป็นกรณีที่คู่พิพาทยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท หรือคู่กรณีทุกฝ่ายไม่มาตามกำหนดนัด ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายคำร้องขอฯ และสั่งยุติเรื่อง และให้ถือว่าคณะผู้ไกล่เกลี่ยไม่เคยรับคำร้องขอฯ มาแต่ต้น ในกรณีอื่นให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการตามเห็นสมควรต่อไป (ข้อ 14)

                       5. วิธีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของคณะผู้ไกล่เกลี่ย
                          5.1    ก่อนเริ่มต้นกระบวนการไกล่เกลี่ยฯ ให้ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยชี้แจงวิธีการไกล่เกลี่ยฯ ให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ (ข้อ 15) และในการไกล่เกลี่ยฯ ทุกครั้ง คณะผู้ไกล่เกลี่ยต้องมาปฏิบัติหน้าที่ครบทุกคน (ข้อ 16 วรรคแรก)
                                5.2    ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการให้คู่พิพาทเสนอข้อผ่อนผันให้แก่กัน หรือ คณะผู้ไกล่เกลี่ยอาจเสนอทางเลือกในการผ่อนผันให้แก่คู่พิพาท แต่ห้ามมิให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยชี้ขาดข้อพิพาท (ข้อ 16 วรรคสอง)
                                5.3   ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อพิพาทจากคู่พิพาททุกฝ่ายต่อหน้า คู่พิพาทพร้อมกัน โดยจะไกล่เกลี่ยพร้อมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่ในการตกลงกันนั้นให้กระทำต่อหน้าคู่พิพาททุกฝ่าย (ข้อ 16 วรรคสาม)
                       6. การนับอายุความ
                    ให้ถือวันที่คู่พิพาทแจ้งความประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เป็นวันยื่นข้อพิพาท กรณีที่แจ้งความประสงค์ โดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่อำเภอได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการสะดุดหยุดลงของอายุความในการฟ้องร้องคดี (ข้อ 18)
                       7. การบอกเลิกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 19)
                             ในระหว่างการดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไม่สมัครใจที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ ต่อไป คู่พิพาทฝ่ายนั้นมีสิทธิบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ ต่อประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย โดยทำเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้ และให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายคำร้องขอฯ และสั่งยุติเรื่องและให้ถือว่าคณะผู้ไกล่เกลี่ยไม่เคยรับคำร้องขอฯ มาแต่ต้น
                       8. กรอบระยะเวลาในการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 21)
                    ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่นายอำเภอได้ลงเรื่องในสารบบฯ เว้นแต่มีความจำเป็นและคู่พิพาทยินยอม ให้ขยายระยะเวลาได้อีกครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหนึ่งปี หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ข้อยุติ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น        

                       9. การตกลงในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                                 9.1    กรณีที่คู่พิพาทไม่อาจตกลงกันได้ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น (ข้อ 22)
                                 9.2    กรณีที่คู่พิพาทตกลงกันได้ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่พิพาท โดยให้คู่พิพาททุกฝ่ายและคณะผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อด้วย และให้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมฯ มีผลผูกพันคู่พิพาท (ข้อ 23)
                       10. ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ
                       ข้อเรียกร้องเดิมของคู่พิพาทระงับสิ้นไป และทำให้คู่พิพาทได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมฯ (ข้อ 24)
                           หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อต่อพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจรับผิดชอบ และให้พนักงานอัยการดำเนินการ ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน  3 ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ เพื่อให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม (ข้อ 25)

................................................................



ขอขอบคุณ

ส่วนกฎหมาย สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัย
3/12 ถ.อู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทร: 02-637-3000 ต่อ 3367-8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น