วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ให้เช่าห้องแล้วต่อมาคนเช่าไม่จ่ายค่าเช่า เจ้าของบ้านจะไปงัดกุญแจขนของออกมาได้หรือไม่


         นายไก่เจ้าของบ้าน ได้ให้นายไข่เช่าห้อง  ต่อมานายไข่ไม่ชำระค่าเช่า  ทวงถามอย่างไรก็ไม่ยอมจ่าย นายไก่จึงนำกุญแจเปลี่ยนใส่ห้องพิพาทแทนกุญแจของนายไข่ และเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินในห้องพิพาทออกไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ ทั้งนี้นายไก่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นพยานในการขนย้ายทรัพย์สินด้วยจำนวน 3 นาย  นายไข่จึงแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี  ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลลงโทษนายไก่และเจ้าพนักงานตำรวจฐานร่วมกันบุกรุก  ตาม ป.อาญา มาตรา 362,  362(2)

         ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า นายไก่แม้จะเป็นเจ้าของห้องเช่า แต่เมื่อให้นายไข่เช่าแล้ว นายไข่ย่อมมีสิทธิครอบครองห้องเช่าตามสัญญาเช่า  เมื่อนายไข่ไม่ชำระค่าเช่า นายไก่จะต้องฟ้องร้องนายไข่เสียก่อน  จะมาใช้อำนาจงัดกุญแจเข้าไปในห้องที่ให้นายไข่เช่าโดยพลการไม่ได้  นายไก่จึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 362  ให้ปรับ 2,000 บาท

         ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุได้ไปที่ห้องพิพาทนั้น เป็นเพียงการไปเป็น พยานรู้เห็นในการขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยสำคัญผิด ว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำความผิด การกระทำของตำรวจทั้งสามนายจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตาม ป.อาญา มาตรา 365 (2) ให้ยกฟ้อง

(แนวฎีกาที่ 5785/2544)

...................... 

ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

          มาตรา 362  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 365  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา  362 มาตรา 363  หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
          (1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือ
          (3) ในเวลากลางคืน
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

............................. 

         นี่ก็เป็นปัญหาที่เจอกันบ่อย  จะให้ใครเช่าบ้านเช่าห้อง ต้องเลือกต้องคัดให้ดี ว่าเขามีรายได้พอที่จะชำระค่าเช่าได้ประจำ อาจไม่ทุกเดือนก็ได้ ยังไงๆ ก็คงมีบ้างที่ขอผัดค่าเช่า ก็หมั่นทวงถามเอาหน่อย เพราะบางทีคนที่เช่าบ้านเราอาจไปเป็นหนี้คนอื่น หนี้นอกระบบ ใครทวงก่อนได้ก่อน  เราก็ต้องขยันทวงนะครับ ดั่งเช่นสุภาษิตที่ว่า “นกที่ออกหากินแต่เช้า ย่อมได้หนอนก่อน”

         หากเจอกรณีผู้เช่าบ้านหรือเช่าห้องไม่จ่ายค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออก ทั้งทนทั้งอึด เราต้องฟ้องขับไล่และให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนนะครับ  ถึงตอนนั้นมีกฎหมายรองรับว่าหากผู้เช่ายังไม่ยอมออกไปอีก ก็จะถูกจับกุมคุมขังได้ครับ

                                              .......................................................



วันที่ 16 ธันวาคม 2555  เวลา 9.26 น.
         เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับบริษัทของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนธุรกิจมีการเช่าห้องไว้และได้ปล่อยให้เช่าช่วงเพื่อเอากำไรจากส่วนต่างของค่าเช่า เมื่อผู้เช่าช่วงค้างค่าเช่าหลายเดือนและไม่ยอม ออกจากห้องเช่า จึงได้ฟ้องขับไล่ ศาลพิพากษาให้ผู้เช่าออกพร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท แต่ผู้เช่าก็ไม่ยอมออก แถมปิดห้องแล้วหายตัวไป ครั้นจะดำเนินการต่อไปในชั้นบังคับคดี ขั้นตอนก็มาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เลยหาวิธีเข้าทางลัดไป แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าจะไปเปิดห้องที่ให้เช่านี้และขนย้ายทรัพย์ของผู้เช่าพร้อมขอเจ้าพนักงานตำรวจสองนายร่วมเดินทางไปเป็นพยานด้วย ไปถึงก็ตัดกุญแจ ถ่ายภาพทรัพย์และทำบัญชีทรัพย์ทุกชิ้น ขนย้ายไปเก็บไว้ยังห้องเก็บของในบริเวณห้องเช่า แล้วพากันกลับไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินของผู้เช่าอีกครั้ง แล้วทำการติดต่อผู้เช่าให้มาตรวจและรับเอาทรัพย์สินคืนไปพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายตามที่ศาลพิพากษา

         การแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานการมีเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นพยานของผู้เขียนนี้ หากผู้เช่าจะเอาเรื่อง ก็มิได้ทำให้หลุดจากข้อหาบุกรุกไปได้ แต่เนื่องจากบริษัทเสียประโยชน์ที่นอกจากจะไม่ได้ค่าเช่าจากผู้เช่าแล้ว บริษัทยังจะต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่เจ้าของห้องทุกเดือนมาตลอด ก็ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้เขียนเลือกวิธีลัดเพราะเร็วกว่ามาก แม้จะเสี่ยงก็ตาม โชคดีที่ผู้เช่าไม่แจ้งความเอาเรื่อง แถมยังบอกให้เอาทรัพย์สินของผู้เช่าที่เก็บรักษาไว้นั้นออกจำหน่ายนำเงินมาชำระค่าเสียหายได้เลย แต่ก็ต้องให้ผู้เช่าทำหนังสือยินยอมให้จำหน่ายเป็นหลักฐานก่อน ถึงจำหน่ายทรัพย์ออกไปได้ ไม่งั้นอาจโดนย้อนศรข้อหาลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ได้อีก

         ปวดหัวนะครับ กับพวกที่ค้างค่าเช่าแล้วไม่ยอมออกไปน่ะ
                                           .............................................................
 
17  ธันวาคม 2555  เวลา 10.30  น.

         เมื่อปีที่แล้ว มีเจ้าของห้องเช่าเล็กๆ ระดับค่าเช่าไม่เกิน 1.000 บาทอยู่แห่งหนึ่ง มาปรึกษาผู้เขียนว่าผู้เช่ารายหนึ่งปิดห้องไม่อยู่บ้านมา 3 เดือนแล้ว ค่าเช่าก็ไม่จ่าย โทร.ติดต่อไปก็บอกไปทำงานต่างจังหวัด ยังจะมาพักอยู่ แต่ไม่ยอมโอนค่าเช่าที่ค้างมาให้ พอโทร.ทวงบ่อยๆ เข้าก็ไม่ยอมรับโทรศัพท์  ผู้เขียนเลยแนะนำให้ไปบอกผู้ใหญ่ บ้านกับตำรวจแถวบ้านมาเป็นพยานในการตัดกุญแจ ทำบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งพบจักรยานยนต์เก่าๆ 1 คัน ชุดเครื่องเสียงระดับล่าง 1 ชุด ตู้เย็นขนาดเล็ก กองเสื้อผ้าเก่าๆ เหม็นๆ อีก 1 กองใหญ่  ก็เก็บรวบรวมใส่กล่องใส่ถุงไว้ในห้องว่างของเจ้าของห้อง และเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ซะเลย ไม่ได้แนะนำให้ไปลงประจำวันเพราะเห็นว่าไม่พ้นผิดหากคนเช่าจะแจ้งความ  แต่เห็นว่าเจ้าของห้องต้องการมีรายได้ทุกเดือนจากห้องที่ให้เช่า งั้นมาอ่านใจแล้วเสี่ยงกันดีกว่า  ผู้เขียนลองใช้โทรศัพท์ของผู้เขียนโทร.ไป เขาก็รับทันที คงเพราะเป็นเบอร์แปลก  เขาบอกไปเกิดอุบัติเหตุขาหักกำลังจะออกจากโรงพยาบาล เดี๋ยวจะโอนเงินค่าเช่าที่ค้างมาให้ แล้วจะให้ญาติมารับทรัพย์สินกลับไป

         จนป่านนี้ ปีเศษแล้วยังไม่มาเลย ขาที่หักก็คงหายดีแล้ว  ถ้าเป็นปลาดาวปลาหมึก ก็อาจมีขางอกออกมาใหม่อีกด้วย ทรัพย์ที่เอาไปเก็บไว้ก็กลายภาระ มากินเนื้อที่ที่ควรจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น  จะเอาไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชำระค่าเช่าห้องที่ค้างก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายให้ได้แค่สิทธิยึดหน่วงเท่านั้น  ครั้นจะเอามาใช้ก็เกรงว่าทรัพย์จะเสื่อมสภาพ กลายเป็นเจ้าของห้องต้องใช้ค่าเสื่อมสภาพ ค่าเสียหายให้เขาไปซะอีก  เลยต้องจำทนเก็บไว้แบบไม่อยากรักษาต่อไป เพราะทรัพย์พวกนี้จะตกรุ่นไปทุกๆ ปี เสื้อผ้าที่เหม็นก็ให้ใส่ถุงพลาสติกใส่กล่องยกออกไปไว้ที่เพิงนอกบ้าน  แล้วรอจนกว่าเขาจะมาเอาหรือจนกว่าแน่ใจว่าเขาจะไม่มาเอาให้ชัดเจนกว่านี้ แล้วค่อยว่ากันใหม่

         กรรมมั๊ยครับ
                               ............................................................
 

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขอแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อของแผ่นดิน




พลุที่ครอบครัวผู้เขียนจุดขึ้นที่บ้าน เพื่อถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา  ๕  ธันวาคม ๒๕๕๕





วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กู้เงินเค้า แล้วตกลงยอมจ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผลจะเป็นอย่างไร


                 ตอนที่ร้อนเงิน  จะกู้ธนาคารก็ยุ่งยาก ขาดหลักประกัน สู้กู้นายทุนนอกระบบดีกว่า  ไม่เกี่ยงดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ถึง 20 ต่อเดือน  บางแหล่งเล่นต่อวันก็มี  มีคนค้ำประกันหนึ่งคน  วันเดียวก็ได้เงินมาใช้จ่ายตามใจอยากแล้ว  แต่ตอนส่งคืนเงินที่กู้นะซิ  ต้องส่งดอกเบี้ยรายวันทุกวัน  ขาดไม่ได้  ส่วนเงินต้นต้องจ่ายคืนครั้งเดียวทั้งก้อน ไม่มีแบ่งจ่ายเหมือนผ่อนธนาคาร  หนักเข้าๆ ผ่อนไม่ไหวก็โวยวายว่านายทุนคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด  ตนจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกวันรวมแล้วมากกว่าเงินต้นที่กู้เป็น 10 เท่าแล้ว  
 

มาดูฎีกานี้กันนะครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2167/2545

           สมชายกู้เงินจากสมหญิง 200,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน แต่เขียนในสัญญากู้ยืมว่าร้อยละ 15 ต่อปี  กำหนดใช้คืนภายใน 6 เดือน

           วันที่กู้สมหญิงหักดอกเบี้ยก่อนทันที 6,000 บาท แล้วจ่ายเงินให้สมชายไปเพียง  194,000  บาท 

           หลังกู้ สมชายได้ชำระดอกเบี้ยให้สมหญิงไปอีกเป็นเงิน  80,000  บาท แล้วก็ไม่ชำระอีกเลยทั้งต้นทั้งดอก  สมหญิงทวงถาม  สมชายก็เฉย  สมหญิงจึงฟ้องศาลขอให้สมชายชำระเงินต้น  200,000  บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15  ต่อปีอีกส่วนหนึ่ง

           สมชายต่อสู้คดีว่า ตนได้กู้เงินจากสมหญิง  200,000  บาทจริง  แต่ในวันที่กู้ ได้รับเงินจากสมหญิงเพียง 194,000  บาทเพราะสมหญิงหักค่าดอกเบี้ยไป  6,000  บาท  สมหญิงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3  ต่อเดือน กับตนได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้ว  80,000  บาท  ดอกเบี้ยที่สมหญิงคิดผิดกฎหมาย ดังนั้นสมชายจึงเป็นหนี้สมหญิงเฉพาะเงินต้น  114,000 บาทเท่านั้น  ขอให้ศาลยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้สมชายชำระเงินจำนวน  200,000  บาท ให้แก่สมหญิง  ส่วนดอกเบี้ยให้ชำระในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีนับแต่วันฟ้อง

           สมชายไม่พอใจ จึงขออนุญาตศาลชั้นต้นอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า สมหญิงคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นผลให้ดอกเบี้ยโมฆะ  ดังนั้นจึงต้องนำเงินค่าดอกเบี้ยที่สมชายจ่ายไปรวม 86,000  บาท ไปหักเงินต้นก่อน  สมชายจึงเหลือหนี้เงินต้นแก่สมหญิงเพียง 114,000  บาท 

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้สมหญิงจะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475  มาตรา  3   ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  654  มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะก็ตาม  แต่เมื่อสมชายจ่ายดอกเบี้ยให้แก่สมหญิงด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกู้ยืมเงินกับสมหญิง  จึงเป็นการชำระตามอำเภอใจ  ตามมาตรา  407  สมชายจะเรียกดอกเบี้ยคืนหรือนำมาหักชำระหนี้เงินต้นไม่ได้  พิพากษาตามศาลชั้นต้น คือให้สมชายชำระเงินต้นคืนแก่สมหญิง  200,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป 

 

           จากฎีกานี้ จะเห็นว่า การชำระดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบไปมากน้อยเพียงใด  ถือว่าเป็นการสมัครใจชำระ  จะมาเรียกคืนหรือนำมาหักกับเงินต้นไม่ได้    ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เกินร้อยละ  15  ปี  หากสมชายยังไม่ได้ชำระ  ก็ไม่ต้องชำระตามสัญญาที่เขียนไว้  คงชำระเท่ากับดอกเบี้ยอัตราผิดนัดทั่วๆ ไป  คือร้อยละ  7.5   ต่อปี

..........................................

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ข้อกฎหมายกับคำพิพากษาศาลฎีกา


เนื่องจากบทความที่จะเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยฯ ผู้เขียนได้พยายามค้นหา พยายามคิดที่จะนำมาลงในระยะนี้ยังไม่มีเรื่องใดที่จะเพิ่มเติม  แต่ไม่อยากให้บล็อกฯ นิ่งอยู่เฉยๆ  เลยจะขอนอกเรื่องงานไกล่เกลี่ยฯ โดยจะนำข้อกฎหมายหรือคดีแปลกๆ หรือการเพลี่ยงพล้ำในทางคดีที่ผู้เขียนค้นพบจากห้องสมุดกฎหมายหรือจากหนังสือที่ผู้เขียนสะสมมาเล่าสู่กันฟัง โดยในบางเรื่องจะเป็นการบอกใบ้ว่า ชาวบ้านอย่างเราๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกฎหมายก็ย่อมมีความรู้สึกกลัวว่าจะใช้ข้อกฎหมายผิด แต่ก็ยังมีผู้ที่ใช้กฎหมายประจำทำคดีผิดเพี้ยนไป  ดังนั้นเราต้องอย่ามองตัวเราว่าใช้กฎหมายไม่เป็นนะครับ  ผู้เขียนมิได้เจตนาจะนำบทความหรือคดีใดๆ มาเพื่อตำหนิผู้เกี่ยวข้อง  เพียงแต่อยากให้ประชาชนอย่างเราๆ เข้าใจว่า เรายังมีศาลเป็นที่พึ่ง ที่จะให้ความยุติธรรมกับเราได้ครับ

เรามาทำความเข้าใจกับกระบวนการฟ้อง การพิจารณาคดี ไปจนถึงการพิเคราะห์ของศาลเพื่อที่จะลงโทษจำเลยในคดีอาญา ว่าจะลงโทษตามคำฟ้องได้เพียงใด โดยจะพยายามใช้ภาษากฎหมายที่อ่านง่าย เข้าใจง่ายนะครับ

คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยได้ขายเทปผีซีดีเถื่อน  เคยโดนจับส่งฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังมากระทำความผิดซ้ำอีก มีบทกฎหมายให้ลงโทษสองเท่าแก่ผู้ที่เคยได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วในความผิดที่ได้กระทำซ้ำยังไม่ครบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2545

ผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 และจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ลงโทษปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544  แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ก่อนที่จะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในคดีดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่ผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปีกลับมากระทำความผิดอีกตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้ได้  ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

........................................

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  มาตรา 73 บัญญัติว่า “ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษ เป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

จำเลยในคดีนี้ จึงโชคดีที่ไม่โดนโทษเบิ้ลเป็นสองเท่า แต่ก็เหมาะสมในฐานที่ได้ฝ่าฝืนกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ยังทำผิดอีก ไม่รู้ว่าในระหว่างขายอยู่นั้นจะไม่คิดเลยรึว่า มีสิทธิ์โดนจับอีก

คดีนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีก็ทราบดีว่าศาลไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าได้ เพราะในวันที่ถูกจับกุมในความผิดครั้งที่สองนั้น ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีความผิดที่ถูกจับกุมครั้งแรก แม้คดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม ก็มิอาจถือว่าจำเลยต้องระวางโทษ

ในการฟ้องคดีไม่ว่าจะโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือทนายความทั้งบิ๊กๆ หรือที่พึ่งได้ตั๋วทนายใหม่ๆ ในบางครั้งที่มีความเห็นในพฤติการณ์ที่ก้ำกึ่งกับข้อกฎหมาย ก็อาจบรรยายฟ้องเข้าไปโดยมีเจตนาเพื่อขอให้ศาลพิเคราะห์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่นักกฎหมายต่อไป มิได้เป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด

 
 

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เหตุเกิดที่โรงพยาบาลสารภี



เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ภรรยาผู้เขียนประสพด้วยตัวเอง  เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้วนี่เอง

เธอเป็นผู้เล่า  ผู้เขียนเป็นผู้เรียบเรียง

: : : : :

น้าจัน น้าชายของภรรยาผู้เขียน อายุ ๗๐ ปีเศษ ฟันกรามผุ มีอาการปวดฟันมาหลายวันแล้ว กินยาจนกระทั่งหายปวด  ก็มาให้ภรรยาผู้เขียนพาไปหาหมอเพื่อไปถอนฟันซี่นั้นออกซะ  ภรรยาผู้เขียนก็พาไปที่ โรงพยาบาลสารภี ไปแผนกทันตกรรม อยู่ตึกด้านหลัง

เมื่อหมอได้ทำการถอนฟันซี่กรามซี่นั่นออกไปแล้ว ก็เอาผ้าก๊อซฆ่าเชื้ออุดแผลที่ถอนฟันให้น้าจันอมไว้  แล้วบอกให้ไปรอรับยาที่ตึกข้างหน้า

ระหว่างนั่งรอรับยาอยู่นั้น น้าจันบอกภรรยาผู้เขียนว่าผ้าก๊อซซับเลือดเต็มแล้ว  อยากเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่แทน  ภรรยาผู้เขียนก็เลยชวนน้าจันเดินไปที่ห้องฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อไปขอเปลี่ยนผ้าก๊อซจากพยาบาลในห้องนั้น

เมื่อถึงหน้าห้องฉุกเฉิน ภรรยาผู้เขียนบอกให้น้าจันนั่งรออยู่หน้าห้อง ภรรยาผู้เขียนจะเข้าไปบอกพยาบาลให้ทราบก่อน

เมื่อภรรยาผู้เขียนเปิดประตูเข้าไปในห้อง พบพยาบาลกำลังจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรองรับคนไข้ฉุกเฉินอยู่ 3 คน  ภรรยาผู้เขียนจึงบอกพยาบาล

ภรรยาผู้เขียน   “คุณพยาบาล  น้าดิชั้นมาถอนฟันแล้วผ้าก๊อซซับเลือดจนล้นเต็มปากแล้ว จะมาขอเปลี่ยนก้อนใหม่ค่ะ”

พยาบาล   “คนไข้อยู่ไหนคะ”

ภรรยาผู้เขียน   “อยู่หน้าห้องค่ะ”

พยาบาล   “รีบพาเข้ามาข้างในเลยค่ะ จะเปลี่ยนให้เดี๋ยวนี้เลย”

พยาบาลทั้งสามก็วางมือจากการจัดเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วไปหยิบเอาคีมเครื่องมือเพื่อคีบผ้าก๊อซจากหม้อนึ่งฆ่าเชื้อ ส่วนภรรยาผู้เขียนก็หันกลับไป เพื่อไปตามน้าจันให้เข้ามาในห้อง  บังเอิ๊ญ  บังเอิญว่ามีลุงแก่คนหนึ่ง อายุพอๆ กับน้าจัน เปิดประตูพรวดพราดเข้ามาในห้องพอดี คุณพยาบาลทั้งสามก็เข้าใจว่าเป็นน้าจันที่คงจะอมผ้าก๊อซที่ชุ่มเลือดจนจะล้นปากไม่ไหวต้องรีบเข้ามา และคงด้วยจิตวิญญาณของความห่วงใยในสุขภาพของคนไข้ คุณพยาบาลก็รีบเดินเข้าไปหาลุงคนนั้นทันที 

พยาบาล   “ลุง  เร็ว มานั่งนี่เลย เดี๋ยวจะจัดการให้”

พูดเสร็จก็ตรงไปจูงมือลุง รั้งตัวให้นั่งลงที่เก้าอี้อย่างเร็ว  ลุงแกก็ทำหน้าตาเหรอหรา คงสงสัยว่าอะไรกันวะ มาจับข้าทำไมวะ เป็นที่งงยิ่งนัก

พยาบาลคนหนึ่งรีบเอาคีมเครื่องมือเดินมาหาลุง เพื่อเตรียมมาคีบผ้าก๊อซชุ่มเลือดออกจากปาก  ส่วนพยาบาลคนที่จับลุงให้นั่งลงนั้น ก็ได้จับคอจับคางลุงให้แหงนหน้าขึ้น แล้วบอกลุงอย่างเร็ว 

พยาบาล  “ลุง อ้าปากเร็ว  อ้ากว้างๆ”

พยาบาลท่านนั้นบอกพลาง เอามือจับคางลุงง้างปากให้อ้ากว้างๆ  พยาบาลอีกคนก็เอาคีมเตรียมที่จะคีบก้อนผ้าก๊อซออก ไปจ่อที่ปากลุง ส่วนลุงที่กำลังงงอยู่นั้น พอได้สติก็ส่งเสียงเพื่อพูดบอกอะไรสักอย่างแก่พยาบาล  แต่เนื่องจากโดนมือพยาบาลล็อคทั้งคอทั้งคาง ก็เลยไม่สามารถส่งเสียงเป็นภาษาที่รู้เรื่องกันได้ เสียงที่ออกมาจึงเป็นเสียงบ่งบอกถึงอาการตกใจกึ่งโวยวายดังเป็นชุดเลย 

ลุง    @ & ! ? % $ ฿  ”
 

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วมาก จนภรรยาผู้เขียนเองที่กำลังจะบอกพยาบาลทั้งสามว่าน้าชายตนยังนั่งรออยู่ข้างนอก ไม่ใช่ลุงคนนี้ ก็ไม่ทันการซะแล้ว แค่เห็นลุงกำลังโดนพยาบาลทั้งสามรวมพลังเป็นแท็คทีมจับลุงเฮดล็อคอยู่ ก็ปล่อยก๊าก  หัวเราะน้ำหูน้ำตาเล็ด จนพอตั้งสติได้ก็บอกกับพยาบาลทั้งสาม 

ภรรยาผู้เขียน   “ไม่ใช่ลุงคนนี้ค่ะ  ไม่ใช่  ไม่ใช่”

แต่พยาบาลทั้งสามคงไม่ทันได้ยิน ยังคงมัวแต่ล็อคลุงเพื่อให้อ้าปาก ส่วนลุงแกก็ไม่ยอมอ้า  แกพยายามดิ้นรนสู้  ใช้มือไม้ปัดป้องกันตัวสุดแรง(ชรา)เหมือนกัน 

พยาบาล   “ลุง อย่าดิ้นซิ  อ้าปากด้วยเร็วๆ  หนูจะเปลี่ยนผ้าให้”

ลุง ซึ่งค่อนข้างผอมแห้ง ไม่อาจต่อสู้ให้ตัวเองเป็นอิสระจากพยาบาลทั้งสามได้ ก็เอาแต่ดิ้น  ดิ้น และดิ้น
ส่วนภรรยาผู้เขียนที่เอาแต่หัวเราะ จนพอจะยั้งสติได้แล้ว ก็บอกกับพยาบาลใหม่อีกครั้งดังๆ กว่าเดิม 

ภรรยาผู้เขียน   “ คุณพยาบาล  ไม่ใช่ลุงคนนี้  น้าหนูนั่งรออยู่ข้างนอกห้องค่ะ”

พยาบาลทั้งสาม พอได้ยินได้ความดังนั้น ก็หยุดกึ๊ก  มือค้าง หน้าค้างนิ่ง  รวมสายตามองมาที่ภรรยาผู้เขียนแล้วหันกลับไปจ้องมองที่ใบหน้าของลุง  ส่วนลุงนั้นเหรอ คอพับคออ่อนอยู่บนเก้าอี้แล้ว 

พยาบาล   “ อ้าว  ไม่ใช่ลุงนี้เหรอ”

พูดเสร็จ พยาบาลทั้งสามท่าน ก็ปล่อยก๊าก หันเดินกลับไปนั่งที่เก้าอี้ใกล้ๆ ต่างเอามือกุมท้องตัวงอ หัวเราะลั่นห้องกันเลย

............

 

น้าจันก็ได้เปลี่ยนผ้าก๊อซก้อนใหม่ก่อนกลับบ้าน  ส่วนลุงยังคงอ่อนระโหย นั่งทำหน้าตางงๆ ต่อไปโดยภรรยาผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่า ลุงแกจะเข้าไปเอาอะไรในห้องฉุกเฉินจนกระทั่งทุกวันนี้

 

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน บริหารไม่ดี อาจได้สิทธิเที่ยวห้องกรงฟรี

 
 



          กองทุนหมู่บ้าน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๔  ซึ่งต่อมาปัจจุบันได้มีเป็น พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ.๒๕๔๗  เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ  แต่ที่ผู้เขียนจะกล่าวครั้งนี้ จะไม่พูดถึงตัวบทกฎหมาย  แต่จะพูดถึงการปฏิบัติ การกระทำของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบริหารกองทุนหมู่บ้าน  คือคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านนั่นเอง

          กองทุนหมู่บ้านแต่ละกองทุนนั้น รัฐได้กำหนดให้มีข้อบังคับใช้เพื่อดูแลบริหารการนำเงินจากกองทุนมาให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อสร้างเสริมอาชีพ หรือใช้จ่ายในความจำเป็นแก่การดำรงชีพ  ซึ่งเดิมกำหนดให้กองทุนฯ ให้สมาชิกกู้ยืมได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท  ส่วนดอกเบี้ยแล้วแต่สมาชิกจะมีความเห็นหรือลงมติ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็มีตั้งแต่ร้อยละ ๖ ถึง ๑๕ ต่อปี 

          ปัจจุบัน รัฐโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  มีมติให้เพิ่มวงเงินกู้สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นจากเดิม ๕๐% โดยการขอกู้ทั่วไปที่เดิมกู้ได้รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท เพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐  บาท ส่วนกรณีใช้การประชุมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทั้งหมดพิจารณาปล่อยกู้ โดยมีอำนาจอนุมัติต่อรายที่วงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ปรับเพิ่มเป็น ๗๕,๐๐๐ บาท ส่วนกรณีอนุมัติวงเงินฉุกเฉินจากเดิม ๑๐,๐๐๐  บาท เพิ่มเป็น ๑๕,๐๐๐  บาท    ด้วยรัฐอาจมองว่าในปัจจุบัน เงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท อาจนำไปลงทุนได้ไม่เพียงพอ จึงได้เพิ่มวงเงินให้แต่ก็มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเช่นกัน  อีกทั้งรัฐยังมีโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ ๒  และที่ ๓ ให้แก่กองทุนหมู่บ้านอีกกองทุนละหนึ่งถึงสามแสนบาท และหนึ่งล้านบาท ตามลำดับ

          การปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ยืมอาจถูกใจบรรดาเหล่าสมาชิกที่จะกู้ได้เงินเพิ่มขึ้นอีก  แต่กรรมการกองทุนฯ ซิครับ ที่จะต้องคิดหนักกับสมาชิกที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี แต่เมื่ออ้างขอกู้ตามสิทธิแล้ว คณะกรรมการจะหาเหตุผลใดมาเป็นเหตุที่ไม่อาจอนุมัติให้กู้ได้เต็มจำนวนตามที่รัฐเปิดโอกาส เพราะเบื่อการทวงหนี้ซ้ำซากกับสมาชิกเหนียวหนี้หน้าเดิมๆ ประจำทุกปี  เลยไม่อนุมัติการให้กู้ยืมง่ายๆ  บางกองทุนจึงเหลือเงินค้างในบัญชีเป็นจำนวนแสนทีเดียว         

          ในการให้กู้ยืมเงินของแต่ละกองทุนก็มีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยต่างกัน แยกได้เป็น ๒ วิธีหลักๆ คือ

          วิธีที่หนึ่ง กำหนดการใช้คืนเป็นรายเดือนๆ ภายในหนึ่งปี คือ ๑๒ งวดใน ๑ ปี
          วิธีที่สอง กำหนดการใช้คืนเป็นรายปี คือใช้คืนครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดเวลา ๑ ปี  คืองวดเดียวปีเดียว   

         สำหรับวิธีที่หนึ่ง  การกำหนดชำระคืนเป็นรายเดือนจะทำให้กองทุนนั้นๆ มีเงินหมุนเวียนให้สมาชิกได้กู้ยืมได้ตลอดปี ซึ่งกองทุนก็จะได้ดอกเบี้ยของเงินที่นำออกให้สมาชิกกู้ยืมใหม่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่กรรมการกองทุนก็จะต้องเปิดรับชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต้องนำฝาก-ถอนเงินที่รับคืนและให้กู้แก่สมาชิกใหม่ และกรรมการกองทุนต้องมานั่งทำงานในทุกเดือนไป

          วิธีที่สอง  กำหนดชำระคืนเป็นรายปีๆ ละครั้ง  เงินทั้งหนึ่งล้านให้สมาชิกกู้ไปในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕  พอถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖  สมาชิกก็นำเงินที่กู้ยืมไปมาส่งคืนพร้อมดอกเบี้ย กรรมการกองทุนก็นำเงินที่สมาชิกมาใช้คืนออกให้กู้ยืมใหม่ต่อไป คณะกรรมการกองทุนก็ทำบัญชี ทำงบดุลปิดบัญชีได้ไม่ยาก ก็ปีละครั้งเอง  จะมานั่งทำบัญชีกันอีกทีก็รอบปีถัดไป  ง่าย สบาย ไม่วุ่นวาย 

          เท่าที่ผู้เขียนได้ยินมา ปัญหาในเรื่องที่สมาชิกใช้เงินกู้คืนช้า ไม่ตรงกำหนด หรือยังไม่ใช้คืนเลยนั้น  ตัวสมาชิกธรรมดาไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาใหญ่มากๆ ก็คือสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการกองทุนนั่นแหละ ตัวดีนัก บางกองทุนก็ตัวประธานกองทุนเองเลยที่สร้างปัญหา  คือ ประธานกองทุนหรือกรรมการกองทุนได้เบียดบังนำเอาเงินกองทุนไปใช้ส่วนตัวหรือใช้ผิดประเภท ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีกำหนดการชำระเงินคืนเป็นรายปี  กรรมการรับเงินที ก้อนใหญ่ๆ  แทนที่จะนำเงินที่สมาชิกนำมาใช้คืนเข้าฝากบัญชีธนาคารออมสิน แต่กลับเอาไปใช้ส่วนตัวซะ  มากบ้าง น้อยบ้าง  บางกองทุนกรรมการกองทุนที่มีความสัมพันธ์กันก็ร่วมกันเบียดบังเป็นหลักแสนเลยทีเดียว  ทุกวันนี้มีกรรมการกองทุนหลายนายที่ถูกแจ้งความจับ ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์  กันหลายแห่งด้วยกัน 

          กรรมการกองทุนที่ร่วมทำการทุจริตบางกองทุนพยายามปกปิดการเบียดบังของพวกตนไว้อย่างที่สุด  พอสมาชิกมาขอกู้ยืมก็บอกไม่มีเงินให้กู้  สมาชิกขอดูบัญชีการให้กู้ยืมก็บอกยังทำไม่เสร็จ  จนเมื่อปิดไม่มิด ความแตก มีการแจ้งความ ก็มีการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือโดยกรรมการกองทุนกันเองให้กรรมการที่ทุจริตยอมลาออก  ยอมรับผิดชดใช้เงินกองทุนที่เบียดบังไปใช้ส่วนตัวเป็นหลักแสนนั้น โดยตกลงจะผ่อนใช้ให้แก่กองทุนเดือนละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐  บาท ดอกเบี้ยก็ไม่คิด เมื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว สิทธิในการที่จะดำเนินคดีอาญาก็ยุติ กองทุนหมู่บ้านก็ได้สิทธิใหม่คือได้รับการชำระหนี้จากกรรมการขี้โกงเดือนละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท  แล้วกี่ปีละครับที่จะชำระหมด ทุนหาย กำไรหด งบดุลก็ปิดไม่ลง  เหล่าสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่ชั้นดีๆ ที่ชำระคืนตามกำหนดก็โวยวายกันว่า ตนกู้ ๒,๐๐๐ บาท ชำระคืนใน ๑ ปี  ดอกเบี้ยก็เสีย  แต่กรรมการโกงไปเป็นแสนๆ แล้วมาทำหนังสือรับสภาพหนี้คืนแต่ยอดเงินที่โกง ดอกเบี้ยก็ไม่ต้องจ่าย  มันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา    นี่คือเรื่องจริงนะครับ  ผู้เขียนได้เห็นเรื่องเช่นนี้ ๒ เรื่องด้วยกัน  ก็ถามบรรดากรรมการคนใหม่ว่าทำไมไม่ดำเนินคดีอาญาเพื่อบีบให้มีการใช้เงินคืนกองทุนให้รวดเร็ว  เขาตอบว่าเขาไม่รู้เรื่องมาก่อนว่ามีปัญหานี้กัน กรรมการบางคนก็ไม่ยอมแม้แต่จะพูดอะไรสักคำ  กรรมการขี้โกงของกองทุนหมู่บ้านนี้ก็โชคดี รอดตัวในคดีอาญาไป รอแต่ผิดนัดชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อไร ก็อาจจะโดนฟ้องทางแพ่งต่อไป  ถึงฟ้องไป กรรมการก็คงจะบอกว่าไม่มีเงินก้อน ขอผ่อนให้ตามเดิม

          แต่สำหรับกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ก็เคยได้ยินว่า เหล่ากรรมการขี้โกงย้ายบ้านหลบหนีหมายจับเลยก็มีหลายแห่ง คดียังไม่เสร็จการพิจารณาของศาลก็มี  ที่ติดคุก นอนฟรี รับประทานอาหารฟรีก็มี

          นี่แหละครับ  เหล่ากรรมการกองทุนที่บริหารไม่ดี เอาเงินกองทุนไปหวังใช้ฟรี ก็อาจได้รับสิทธิเที่ยวห้องกรง  กินอยู่ฟรีนะครับ

         

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้านใด ไม่อยากเสียค่าจ้างทนายฟ้องลูกหนี้ผิดนัด ขอให้นำลูกหนี้นั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ


            แต่เดิมนั้น  กองทุนหมู่บ้านที่เหลืออดกับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้  ขอผัดผ่อนจนวินัยในการชำระหย่อนยาน  บรรดากรรมการกองทุนใจหนึ่งก็อยากจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ได้มีการชำระหนี้ เอาเงินมาคืนกองทุนเพื่อจะได้นำออกให้สมาชิกคนอื่นกู้ยืมไปใช้ประโยชน์บ้าง  อีกใจก็ลูบหน้าปะจมูก  ลูกหนี้คนนั้นก็ญาติ  คนนี้ก็เพื่อน  จะดำเนินคดีเดี๋ยวก็มีปัญหาโกรธเคืองกัน  จะส่งฟ้องก็โดนชาวบ้านตำหนิว่าทำรุนแรงไป แต่หากไม่ทำอะไรเลย บรรดาหนี้สะสมก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ช้าไปก็อาจจะหมดอายุความเอาแบบไม่รู้ตัว
          อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน
          หากเป็นการกู้ยืมเงินที่กำหนดชำระคืนเป็นงวดๆ   อายุความในการฟ้องคดี ๕ ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระ 
          แต่หากกำหนดชำระครั้งเดียว  อายุความจะเป็น ๑๐ ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระ
         เมื่อคณะกรรมการกองทุนจำต้องส่งเรื่องให้ฟ้อง  ก็ยังมีทางให้เลือกสองทางว่า จะให้อัยการฟ้องหรือจะจ้างทนายฟ้องดีเล่า
         จะให้อัยการฟ้อง  ค่าดำเนินการฟรี แต่ค่าธรรมเนียมศาล ค่าส่งหมายเรียก กองทุนหมู่บ้านต้องจ่ายเอง  ต้องมีรายงานการประชุมของคณะกรรมการกองทุนว่าให้ฟ้องนายนั่น นางนี่  มีเอกสารสำคัญให้ครบ และต้องก่อนหมดอายุความพอสมควรแก่อัยการ  ไม่ใช่อีก ๒-๓ เดือนจะหมดอายุความแล้วรีบส่ง  เพราะอัยการที่ดูแลเรื่องนี้มีน้อย แล้วไม่รู้ว่ามีกี่สิบกองทุนที่ส่งเรื่องมาให้อัยการฟ้อง อัยการจะต้องตรวจสอบเอกสารในแต่ละเรื่องว่าครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะยื่นฟ้องแล้วหรือไม่ ถ้าขาดเอกสารใด อัยการก็จะแจ้งให้กองทุนนั้นๆ จัดนำส่งเอกสารไปให้  หากมีเวลาให้อัยการเตรียมคดีที่ไม่เหมาะสม คดีอาจขาดอายุความได้  แต่ถึงแม้จะยังไม่ขาดอายุความ หากอัยการมีคดีอื่นๆ อีกมากมาย กว่าจะฟ้องคดีของเรา ก็อาจจะอีกนาน  นานจนกองทุนหมู่บ้านเจ้าของเรื่องกระวนกระวายใจยิ่งนัก  งั้นไปจ้างทนายความฟ้องดีกว่า เร็วดี 

          จะจ้างทนายฟ้องเอง  ค่าจ้างทนายเท่าไร กี่พันบาท กองทุนหมู่บ้านมีเงินกำไรพอที่จะนำมาจ่ายค่าจ้างทนายฟ้องได้สักกี่คดี  ค่าธรรมเนียมศาลอีก  อาจทำเอาทุนหายกำไรหด หมดเงินปันผลแก่สมาชิกได้

        ผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านอยู่ด้วย  แรกๆ อยากจะประหยัดเงินค่าจ้างทนายความ  ผู้เขียนบอกจะเป็นทนายฟ้องเอง ไม่มีค่าทนาย แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว เกรงว่าจะได้ไม่เท่าเสีย  คือกองทุนหมู่บ้านจะได้เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ผู้เขียนเองจะเสียคนตามกฎธรรมชาติของหมู่บ้าน คือการฟ้องคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง ลูกหนี้อาจเป็นคนบ้านเหนือ บ้านใต้ บ้านข้างๆ หรือญาติภรรยา  มีแต่เสียทั้งนั้น ตอนที่ผิดนัดชำระผู้เขียนก็ไปทวงมาแล้ว จ่ายมั่ง ไม่จ่ายมั่ง ลูกหนี้บางคนบ่นว่าเป็นเงินหลวง ไม่ใช่เงินพ่อเงินแม่ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เขาไม่ใช้ให้หรอก ที่หนักกว่านี้ลูกหนี้บางคนบอกว่าเงินกองทุนเป็นเงินของทักษิณ  ในเมื่อทักษิณไม่ได้บอกว่าพวกเขาต้องใช้คืน เขาก็จะไม่ใช้ ผู้เขียนล่ะมึนตึ้บ  หากยังคงตื๊อทวงต่อไป ก็ชักเริ่มห่วงว่าคนในครอบครัวผู้เขียนจะโดนพาล โดนนินทาเป็นหางเลขไปด้วย  เลยต้องจ้างทนายนอกหมู่บ้านฟ้องดีกว่า คดีละ ๒,๐๐๐  บาท  ค่าธรรมเนียมศาลต่างหาก เพียงแต่คัดที่มันหนักๆ ส่งฟ้อง ส่วนที่เบาๆ ก็ติดตามทวงถามบ่อยๆ เอา ประหยัดไว้ก่อน

           แต่ครั้นเมื่อมีกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ ขึ้นมา  ผู้เขียนก็เห็นว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ นี้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีผลของการทำสัญญาประนีประนอมได้เทียบเคียงกับคำพิพากษาตามยอมของศาล และรวดเร็วกว่าการฟ้องโดยอัยการหรือทนาย  จึงถือโอกาสอันดี เข้าไปปรึกษาหารือกับปลัดอำเภอผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ ท่านปลัดฯ ก็ใจดี บอกให้ส่งเรื่องมาเลย จะดำเนินการให้ ผู้เขียนจึงได้จัดเบาๆ ก่อนในชุดแรก ๔ เรื่อง เมื่อถึงกำหนดเวลา ท่านปลัดฯ นัดวันให้ไกล่เกลี่ยเช้าหนึ่งเรื่อง-บ่ายหนึ่งเรื่อง สองวันก็เสร็จ   ซึ่งในวันที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ นั้น ท่านปลัดกล่าวให้คู่พิพาททราบถึงกฎกระทรวงฯ นี้ดีอย่างไร มีผลบังคับอย่างไร แล้วก็วกมาที่การเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน จริงหรือไม่ จะเจรจาต่อรองกันอย่างไรให้คุยกันมาได้เลย คุยกันที่นี่(อำเภอ) ดีกว่าไปคุยที่ศาล แค่เดินขึ้นศาลก็ขาสั่นกันแล้ว ยังเสียทั้งค่าทนาย ทั้งเวลา ฯ  ท่านปลัดพูดไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อย ลูกหนี้ก็ยอมรับผิด เข้าใจคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  ไม่โกรธไม่เคือง ท่านปลัดก็ชวนคุยแบบมีความให้สมานฉันท์ต่อกัน  ต่างเดินยิ้มกันออกมาจากห้องไกล่เกลี่ยฯ แล้วหลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ต้องมาลุ้นกันว่า เมื่อถึงวันกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฝ่ายลูกหนี้จะจ่ายมั๊ย  ฝ่ายกองทุนหมู่บ้านนี้จะไปตามทวงมั๊ยกันล่ะครับ  แต่อย่างน้อยที่สุด กองทุนหมู่บ้านก็ได้สัญญาประนีประนอมยอมความที่เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาตามยอมของศาลไว้กับกองทุนหมู่บ้านแล้ว

          การส่งเรื่องให้อำเภอทำการไกล่เกลี่ยฯ  จึงเป็นทางเลือกที่สามที่เหมาะสมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

          สำหรับลูกหนี้ผิดนัดชำระกองทุนหมู่บ้านของผู้เขียนชุดต่อไปที่จะได้รับเกียรติให้ได้รับหนังสือเชิญจากท่านนายอำเภอ  ผู้เขียนจะจัดหนัก  ยกล็อต เหมาโหลส่งอำเภอเลยครับ เพราะเชื่อในศักยภาพของการจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยของอำเภอดังเช่นที่ผ่านมา  

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ห้องสนทนา คุยกันฉันมิตร


เรียนทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม

ผู้เขียนได้ทดลองทำบอร์ดสำหรับสนทนากันแบบง่ายๆ  ชื่อห้องสนทนา  แล้วคลิกที่  “คุยกันฉันมิตร” เป็นกระดานที่ใช้คุยต่อๆ กันแห่งเดียว รับรู้กันหมดทุกคน เดิมผู้เขียนจะทำเป็นเว็บบอร์ด เป็นของฟรี แต่เท่าที่ศึกษาดูแล้วเขาจะติดโฆษณามาให้ด้วย เกรงว่าท่านผู้เข้ามาอ่านจะเกิดความรำคาญ  ผู้เขียนเลยทดลองนำห้องทำบทความมาแปลงลงเป็นห้องสนทนาอยู่ข้างๆ นี้  ขวามือ ใต้คลิปวิดีโอ  ท่านใดอยากบอก อยากบ่นอะไร เชิญนะครับ

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

สัญญาประนีประนอมยอมความ ใครจะเป็นผู้ที่จัดทำได้บ้าง

             ผู้อ่านหลายท่านต้องรู้จักกับสัญญาประนีประนอมยอมความ อาจเคยเป็นผู้จัดทำหรือได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังมา หากท่านใดเคยขึ้นศาล ก็จะยิ่งต้องรู้จักดีใหญ่เลย





           เรามาย้อนดูกันก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความคืออะไร จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนะครับ
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติไว้ว่า อันว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
           สัญญาประนีประนอมยอมความ มี ๒ ประเภท คือ สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล กับสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล
           สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาต้องไปฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับอีกฝ่าย ฐานผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
           ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล เนื่องด้วยมีการฟ้องคดีต่อศาลก่อนแล้วและคดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อศาลพิพากษาให้ตามสัญญาแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ศาลสามารถบังคับคดีให้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อีก   

           เนื่องจากที่เราคุยกันนี้ เป็นเรื่องของการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในเรื่องที่ยังไปไม่ถึงศาล เพื่อที่จะให้คู่พิพาทได้ตกลงยุติข้อพิพาทและยังเป็นการติดเบรกข้อพิพาทนี้มิให้ขึ้นไปสู่ศาล ดังนั้นเราจะคุยถึงเฉพาะสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาลนะครับ 
           รูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลทั่วๆ ไป จะเขียนบนกระดาษขนาดใดก็ได้ แต่ต้องมีสาระสำคัญที่ประกอบด้วย
           - ชื่อหัวกระดาษระบุว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ
           - สถานที่ทำสัญญา
           - วันเดือนปี ที่ทำสัญญา
           - ชื่อ อายุ (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) ที่อยู่หรือภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย
           - ข้อความที่คู่สัญญาได้เจรจาและตกลงจะให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำสิ่งใดบ้าง ต้องให้
ชัดเจนและปฏิบัติได้
           - ข้อความว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดและต่างจะไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและ
คดีอาญาใดๆกันอีกต่อไป
           - ข้อความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความนี้ทำขึ้นเป็นสองฉบับมีข้อความถูกต้องตรงกัน ทั้ง
สองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจในข้อตกลงข้างต้นเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้า พยานและต่างได้ถือกันไว้ฝ่ายละฉบับ ต้องลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย หากเป็นลายเซ็น ให้มีชื่อตัวบรรจงในวงเล็บใต้ลายเซ็นนั้น
           - ควรต้องมีพยานลงลายมือชื่อไว้ด้วย จะหนึ่งคนหรือสองคนก็ได้
           สัญญา หมายถึง นิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายที่เกิดจากการแสดงเจตนาเสนอ สนองต้องตรงกันของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปที่มุ่งจะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงหรือระงับนิติสัมพันธ์ สัญญาจึงจำเป็นต้องมีลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย หากมีลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียว อาจจะเป็นเพียงคำเสนอหรือคำมั่นที่จะผูกพันฝ่ายที่ลงลายมือชื่อไว้ฝ่ายเดียวได้
           ทีนี้มาดูว่าลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ สำคัญอย่างไร
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
        อ่านกฎหมายมาตรานี้แล้วบางท่านอาจสงสัยว่า เมื่อกี้บอกว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย แต่ในกฎหมายมาตรานี้บอกว่า....ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จะหมายความว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้มีลงชื่อไว้ฝ่ายเดียวใช่หรือเปล่า แล้วจะใช้บังคับกันได้รึ 
           หากสงสัยเช่นนี้ ผู้เขียนขอขยายให้เข้าใจโดยสมมุติว่า ในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ เมื่อเขียนสาระสำคัญเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการลงชื่อ แต่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงลายมือชื่อ อาจเกิดปวดท้อง หรือเกิดติดธุระด่วน รอไม่ได้ขอไปธุระก่อน แล้วจะกลับมาลงชื่อภายหลัง แต่แล้วก็หายไป ไม่ได้มาลงชื่อจนกระทั่งฝ่ายที่ไม่ได้ลงชื่อเกิดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีนี้ก็จะไปฟ้องคดีเอากับฝ่ายที่มิได้ลงลายมือชื่อไม่ได้ ดังนั้นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างที่ร่างทำสัญญาอยู่นั้น หากฝ่ายที่ต้องรับผิดตามที่จะร่างในสัญญาเกิดเปลี่ยนใจ คิดจะหลบ อาจอ้างอุบายสารพัดที่จะลุกหนีออกไป ก็อย่ายอมนะครับ ล็อคตัวไว้ อ้างปวดท้องก็บอกให้ราดตรงนั้นเลย อ้างต้องโทรศัพท์ติดต่อคนอื่นด่วนแต่แบตเตอรี่โทรศัพท์หมด จะออกไปโทร.หยอดเหรียญ ก็จงบอกให้เอาเครื่องของเราโทร.ได้ตอนนี้เลย ผู้เขียนเคยเจอเช่นนี้มาแล้ว เรื่องเกิดที่สถานีตำรวจ อีกฝ่ายอ้างจะโทรศัพท์แต่แบต.หมด ผู้เขียนก็ส่งโทรศัพท์ให้ไป พี่ท่านก็รับเครื่องของผู้เขียนแล้วเดินออกจากห้องสอบสวน ผู้เขียนลุกตามไปด้วย เขาเดินเลี่ยงไปทางใต้ต้นไม้ แต่อยู่ภายในสายตาของผู้เขียน เขาหันหลังให้ทำเป็นกดเบอร์โทร.ออก แล้วส่งเสียงคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ สักพักก็เดินมาส่งโทรศัพท์คืน หลังจากเสร็จเรื่องแล้วแยกย้ายกันกลับ ผู้เขียนก็กดเครื่องโทรศัพท์ดูหมายเลขที่เขาโทร.ออก ด้วยกลัวว่าเขาจะโทร.ไปเมืองนอก ปั้ดโธ่ กดเบอร์ 92 มันเป็นหมายเลขอะไรน่ะ ทำเป็นคุยเป็นคุ้งเป็นแคว มียิ้ม มีพยักหน้าอีกด้วยต่างหาก
           กลับเข้าไปดูในมาตรา ๘๕๑ ตรงคำว่า ....ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ.... นั่นหมายความว่า ฝ่ายที่ต้องรับผิด มิได้มีแต่ฝ่ายผู้ถูกร้องนะครับ ในบางกรณี ผู้ร้องก็อาจต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เช่น ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ตกลงว่าให้อีกฝ่ายกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฝ่ายตนก็จะงดเว้นการกระทำหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป เช่นนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุที่จะฟ้องอีกฝ่ายเท่าๆ กัน หากไม่ทำตามที่ตกลงในสัญญาฯ 
           เมื่อทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อกันแล้ว จะมีผลอย่างไรเกิดขึ้นบ้าง
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
           หมายถึงก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต่างฝ่ายต่างอาจมีสิทธิเรียกร้องต่อกันมากมาย มากจนขัดแย้งกัน แต่เมื่อได้มีการไกล่เกลี่ยกันแล้ว ต่างได้ลดราวาศอกลงเพื่อให้ยุติข้อพิพาทด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน บรรดาข้อเรียกร้องที่มากมายนั้นก็จะระงับ จะสิ้นไป เกิดเป็นสิทธิเรียกร้องใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้นั่นเอง
           ยกตัวอย่าง : นายไก่มีที่ดินติดกับบ้านนายไข่ อยู่มาวันหนึ่งนายไข่ได้แอบย้ายหลักเขตที่ดินขยับเข้าไปในที่ดินของนายไก่ ด้วยหวังจะเพิ่มเนื้อที่ของตนโดยมิชอบ เมื่อนายไก่ทราบภายหลัง จึงได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับนายไข่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๓ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(เป็นความผิดที่ยอมความได้) เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวนายไขไปที่สถานีตำรวจ ได้มีการไกล่เกลี่ยจนจบลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน(เป็นการบันทึกข้อความที่ตกลงกันลงในบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ที่เราเรียกกันว่า ลงประจำวัน.....ผู้เขียน) โดยที่นายไข่ตกลงยินยอมย้ายหลักเขตกลับที่เดิมให้ตรงตามโฉนดพร้อมทั้งจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายไก่ ๑๐,๐๐๐ บาท นายไก่ก็ตกลงว่าจะถอนแจ้งความ ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญากับนายไข่อีกต่อไป เช่นนี้ ถือว่าสิทธิที่นายไก่จะดำเนินคดีอาญากับนายไข่ได้ระงับสิ้นไป แต่ได้สิทธิใหม่คือจะได้รับเงินค่าเสียหายจากนายไข่เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทและนายไข่จะเป็นผู้ย้ายหลักเขตกลับมายังจุดเดิม  
           ผู้เขียนมีตัวอย่างของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล เป็นคดีที่ผู้เขียนเป็นทนายความฝ่ายลูกหนี้ ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลให้ลงโทษลูกหนี้ผู้เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ หนี้ตามเช็คที่ฟ้องเกือบสองล้านบาท แต่ได้มีการเจรจาต่อรองกันจนเหลือที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนอกห้องพิจารณาคดี แล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็นำสัญญาฯ นี้เข้าไปแถลงต่อศาลขอถอนฟ้องลูกหนี้ผู้เป็นจำเลย เป็นตัวอย่างสัญญาประนีประนอมยอมความที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้เพื่อให้ต้องรับโทษทางอาญาได้ระงับสิ้นไปและเจ้าหนี้ก็ได้สิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ตามที่ระบุในสัญญาฯ คือจะได้เงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สัญญาดังเช่นฉบับตัวอย่างนี้ แม้โจทก์จะไม่นำเข้าไปแถลงขอถอนฟ้องต่อศาล แต่สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ต่อจำเลยได้หมดสิ้นไปเมื่อได้ยกปากกาขึ้นหลังจากลงชื่อโจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้ว แต่การที่ต้องไปแถลงให้ศาลทราบนี้ ก็เพื่อที่ศาลจะได้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปครับ)

                             ---------------------------------------------------------------------------------

สัญญาประนีประนอมยอมความ

                           สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ระหว่าง บริษัท ………………………………..…ผู้รับมอบอำนาจ อยู่เลขที่………ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า เจ้าหนี้ ฝ่ายหนึ่ง กับ……………………………..อยู่บ้านเลขที่…………………………..จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ลูกหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้มีผลผูกพันกันดังต่อไปนี้

                           ตามที่บริษัท ………………………………..… จำกัด ซึ่งมีลูกหนี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ได้ร่วมลงลายมือชื่อลงในเช็คธนาคาร …………………...(มหาชน) สาขา………………สั่งจ่ายเงิน ๑,๙๘๕,๐๐๐ บาท(หนึ่งล้านเก้าแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ตามสัญญา………………………..… และต่อมาเมื่อเจ้าหนี้นำเช็คฉบับดังกล่าวส่งเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่ายเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เจ้าหนี้จึงได้นำเช็คและใบคืนเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๔ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่………..…ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท……………………จำกัด นั้น
                           ข้อ ๑. ลูกหนี้ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยจะผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๑๐ เดือน เริ่มชำระเดือนแรกวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ และต่อไปทุกวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปจนครบ ๑๐ เดือน
                           ข้อ ๒. เจ้าหนี้ตกลงยุติการดำเนินคดีกับลูกหนี้ทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท ………………………..… จำกัด โดยถอนฟ้องลูกหนี้ที่ได้ยื่นฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่ คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๘๐๒๕๕๔ ออกเสียจากสารบบความ และจะไม่ดำเนินคดีทางแพ่งใดๆ เพื่อให้ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้หนี้ตามเช็คฉบับดังกล่าวทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท …………………………..…จำกัดอีกต่อไป
                           ข้อ ๓. หากลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดหรือผิดนัดทั้งหมด ลูกหนี้ยินยอมให้เจ้าหนี้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของส่วนที่ค้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
                           ข้อ ๔. เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงตามข้อ ๑ ๓ และต่างจะได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เพื่อให้มีผลตามกฎหมายต่อไป
                           สัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ทำขึ้นเป็นสองฉบับ มีข้อความตรงกัน ต่างได้อ่านและเข้าใจข้อความดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเพื่อเป็นหลักฐาน

                                                ลงชื่อ........................................................เจ้าหนี้
                                                           (………………………………..…)

                                                ลงชื่อ......................................................ลูกหนี้
                                                         (………………………………..… )

                                                 ลงชื่อ........................................................พยาน
                                                           (………………………………..…) 

                                                ลงชื่อ......................................................พยาน
                                                         (………………………………..…)

-                -----------------------------------------------------------------------------------------------------------

              สงสัยมั๊ยครับ ว่าผู้เขียนเขียนมาซะมากมาย ยังไม่เห็นเข้าหัวข้อเลยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ใครจะเป็นผู้ที่จัดทำได้บ้าง ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบกันมาก่อนแล้วว่า ผู้ที่จะเป็นผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จะเป็นใครก็ได้ ที่สามารถเข้าใจและเขียนระบุใจความสาระสำคัญลงในสัญญาตามที่ผู้เขียนกล่าวในช่วงแรกๆ ไม่จำเป็นที่ผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ย, ผู้ประนีประนอมประจำศาล ฯลฯ
           ผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จะเป็นใครก็ได้ที่สามารถเป็นตัวกลางในการช่วยพูดกล่อมให้คู่พิพาทตกลงยุติข้อพิพาทกันได้ เขียนที่ไหน ทำที่ไหนได้ทั้งนั้น และการที่เป็น ใครก็ได้ นี้ ใครคนนั้นก็สามารถใช้ลูกล่อลูกชน ชี้นำ ชี้ขาดในเรื่องที่พิพาทกันได้ เพราะคู่พิพาทอาจเป็นลูกหลานหรือคนที่เคารพใครคนนั้น ก็จะมีความเกรงใจยอมยุติได้ ซึ่งต่างกับผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎกระทรวงฯ ผู้ประนีประนอมของศาล พนักงานอัยการ หรือทนายความ ที่มีกฏระเบียบห้ามชี้นำหรือชี้ขาด แต่ใครก็ได้นี้ จะต้องยึดเอาความถูกต้อง เป็นธรรมและยุติธรรมเป็นที่ตั้งในการเข้าไกล่เกลี่ย เพราะหากขาดสิ่งนี้แล้ว ใครคนนั้นก็คงจะไม่ทันได้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนเสร็จสิ้นอย่างแน่ๆ

ข้อสังเกต : การทำสัญญาประนีประนอมยอมความของคณะผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง เป็นการทำกันนอกศาล แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ก็มิต้องนำสัญญานี้ไปฟ้องศาล เพียงแต่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับไปยังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก่อนที่จะบังคับคดีเท่านั้นเอง เพราะมีกฎหมายออกมารับรองผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยฯ โดยเฉพาะครับ
           ท่านใดมีความเห็นว่าผู้เขียนเข้าใจผิดหรือมีความเห็นที่ต่างกว่าหรือเพิ่มเติม ขอกรุณามาบอกมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเติมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านกันนะครับ
ขอขอบคุณมาล่วงหน้าครับ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเติมครับ

              สำหรับคดีที่ผู้เขียนนำสัญญาประนีประนอมยอมความมาเป็นตัวอย่างนี้ หากผู้อ่านสงสัยว่าหนี้ตามเช็คเกือบสองล้านบาท แต่เจรจาต่อรองเหลือสามแสนบาท เป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายดังนี้นะครับ
              เช็คที่เจ้าหนี้นำมาฟ้องลูกหนี้ ข้อเท็จจริงเป็นเช็คค้ำประกัน บริษัทลูกหนี้เป็นลูกค้าประจำของเจ้าหนี้ กู้ยืมเงินมาหลายครั้งแล้ว ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในนามกรรมการผู้มีอำนาจขณะรับวงเงินที่กู้ โดยไม่ได้กรอกลงจำนวนเงินและวันที่ในแต่ละครั้งแล้วส่งมอบเช็คนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ ส่วนหนี้เงินสดที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้เจ้าหนี้ไปรับเงินจากเจ้าของงานที่ลูกหนี้ไปรับเหมาเป็นงวดๆ จนครบ เมื่อรับเงินงวดสุดท้ายมาแล้ว เจ้าหนี้ก็จะคืนส่วนต่างให้แก่ลูกหนี้ ทีนี้เช็คที่เจ้าหนี้นำมาฟ้องนี้ เป็นเช็คที่ค้ำประกันงานหนึ่งที่บริษัทลูกหนี้ทำงานไม่เสร็จ จึงไม่ได้เงินจากผู้ว่าจ้าง เจ้าหนี้ก็เลยไม่ได้รับเงินที่ลูกหนี้กู้คืนมา จึงนำเช็คมากรอกลงจำนวนเงิน ลงวันที่แล้วนำมาฟ้อง ซึ่งเช็คค้ำประกันนี้จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตัวลูกหนี้ก็ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทมาหลายปีแล้ว
               ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ได้มีการเจรจากันต่อหน้าศาล ลูกหนี้แถลงศาลว่าเช็คเขียนจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่แรกวันที่ทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นการค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้บอกว่าพึ่งได้รับเช็คจากลูกหนี้หลังจากที่ไม่ได้รับการใช้เงินคืน ผู้เขียนเลยถามเจ้าหนี้ว่า หากมีการไต่สวนมูลฟ้อง พยานฝ่ายเจ้าหนี้จะเบิกความตามที่อ้างนี้หรือไม่ พยานฝ่ายเจ้าหนี้บอกตนจะเบิกความตามนี้ ศาลก็เลยถามเจ้าหนี้ว่าหากสืบได้ว่าเป็นเช็คที่จ่ายมาก่อนแล้ว จะถือว่าพยานเจ้าหนี้เบิกความเท็จนะ ลองไปเจรจากันนอกห้องก่อน เพราะแม้จะยกฟ้องในคดีอาญา แต่ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดทางแพ่งตามจำนวนเงินในเช็คอยู่ดี จึงออกไปเจรจากันนอกห้อง ประเด็นที่เจรจาคือหากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พยานฝ่ายเจ้าหนี้เบิกความที่ลูกหนี้ถือว่าเป็นการเบิกความเท็จ ลูกหนี้ก็จะฟ้องพยานเจ้าหนี้ว่าเบิกความเป็นเท็จ มีโทษทางอาญา ถึงแม้ลูกหนี้ยังจะต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวตามหนี้ในเช็คเกือบสองล้านบาท แบบว่าจะแลกกันมั๊ย ฝ่ายเจ้าหนี้เลยบอกขอให้ลูกหนี้รับผิดชอบในฐานะส่วนตัวเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือทางเจ้าหนี้จะเรียกร้องเอากับบริษัทที่ลูกหนี้เคยเป็นกรรมการเอง แล้วเลิกคดีอาญานี้ต่อกัน กับจะไม่ฟ้องทางแพ่งใดๆ กับลูกหนี้อีก ทั้งๆ ที่ลูกหนี้ก็ไม่น่าจะต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวกับเงินถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาทนี้เลย เพราะทำในนามบริษัท เวลาได้กำไร ตัวลูกหนี้ก็ไม่เคยได้รับส่วนแบ่ง แต่พอขาดทุนกลับมาลงให้ลูกหนี้รับผิดในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามบริษัท แต่ในข้อกฎหมายตัวลูกหนี้จะปฏิเสธความรับผิดในฐานะส่วนตัวไม่ได้ ก็เลยต้องตกลงตามนั้น
          แค่นี้เองครับ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการใช้ความสามารถที่เหนือกว่าปกติ เป็นเพียงความคิดพื้นๆ ธรรมดาๆ เช่นบุคคลอย่างเราๆ ท่านๆ มีอยู่กันทุกคนแหละครับ ท่านผู้อ่านก็คิดได้ ทำได้เช่นกัน