วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญ กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓


สรุปสาระสำคัญ

กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ. 2553



                       1. นิยามสำคัญ (ข้อ 2)

                       ความผิดที่มีโทษทางอาญา หมายความว่า ความผิดที่มีโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่เป็นความผิดอันยอมความได้

                       2. ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา

                       ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือหรือด้วยวาจาต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอนั้น (ข้อ 4 วรรคแรก) เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์แล้ว ให้แจ้งผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทราบและสอบถามว่าจะยินยอมหรือแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่ (ข้อ 4 วรรคสอง) ทั้งนี้ การแจ้งความประสงค์ดังกล่าว มิใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ข้อ 6)

                                  2.1 กรณีผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายตกลงยินยอมหรือแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอนั้น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแห่งกรณี (ข้อ 3) และแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบ และจัดให้มีการบันทึกการยินยอมหรือความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยไว้ในสารบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญา พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ นั้น (ข้อ 4 วรรคสาม)

                                2.2 กรณีผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการฯ ให้การแจ้งความประสงค์สิ้นผลไป และให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายที่เหลือทราบด้วย (ข้อ 4 วรรคสี่)

                                 2.3 กรณีที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก่อนวันแจ้งความประสงค์ฯ หรือจะระงับก่อนวันที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งให้ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อสอบถามความยินยอมหรือแสดงความจำนง ห้ามมิให้รับข้อพิพาทนั้นไว้ไกล่เกลี่ย และแจ้งให้ผู้แจ้งความประสงค์ทราบโดยพลัน (ข้อ 5)   

                       3. สถานที่ดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา (ข้อ 9)

                       ให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือในกรณีจำเป็นจะกระทำ ณ สถานที่ราชการอื่นตามที่นายอำเภอกำหนดก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายทราบล่วงหน้าตามสมควร

                       4. การดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา

                                 4.1 เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ แล้ว ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอรับข้อพิพาทนั้นไว้ไกล่เกลี่ยต่อไป และแจ้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายทราบถึงสิทธิของตนและผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พร้อมทั้งสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท และบันทึกการแจ้งและรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าวไว้ในสารบบฯ (ข้อ 7 วรรคแรก)         

                                 4.2 การบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท ให้บันทึกเฉพาะการกระทำที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทตามที่ได้ความจากผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัน เวลา สถานที่ และบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแล้วให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย นายอำเภอหรือปลัดอำเภอลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน (ข้อ 7 วรรคสองและวรรคสาม) โดยการสอบถามรายละเอียดให้กระทำต่อหน้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย เว้นแต่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาตามที่นัดหมายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งนี้การไกล่เกลี่ยจะกระทำพร้อมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่ในการตกลงกันนั้น ให้กระทำต่อหน้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย (ข้อ 8)             

                            4.3 ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายมีสิทธิให้ผู้ซึ่งตนไว้ใจไม่เกินสองคนเข้ารับฟัง
การไกล่เกลี่ยได้
แต่ในการไกล่เกลี่ยครั้งใด หากนายอำเภอหรือปลัดอำเภอเห็นว่าการมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยจะเป็นอุปสรรคต่อการไกล่เกลี่ย จะมิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมรับฟังก็ได้ (ข้อ 8 วรรคสอง)

                                4.4 นายอำเภอหรือปลัดอำเภออาจเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาเสนอ
ข้อผ่อนผันให้แก่กัน หรืออาจเสนอทางเลือกให้แก่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาผ่อนผันให้แก่กันก็ได้ แต่ห้ามมิให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือชี้ขาดข้อพิพาท (ข้อ 10)

                                 4.5 ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกการไกล่เกลี่ย โดยทำเป็นหนังสือหรือวาจาต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอก็ได้ และเมื่อได้รับการรับการบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้นออกจากสารบบฯ (ข้อ 15)

                       5. กรอบระยะเวลาในการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                    ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับข้อพิพาทไว้ เว้นแต่มีความจำเป็นและผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายยินยอม ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 15 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถตกลงยินยอมกันได้ ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้น (ข้อ 16) ทั้งนี้จะรับข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยอีกมิได้ (ข้อ 17)

                       6. การตกลงในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                       กรณีที่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายตกลงยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจัดทำเป็นหนังสือตกลงยินยอม และบันทึกการตกลงฯ ไว้ในสารบบฯ (ข้อ 11)

                       7. ผลของหนังสือตกลงยินยอม

                       เมื่อได้มีการปฏิบัติตามความตกลงยินยอมแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน และสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ (ข้อ 12 วรรคแรก) และกรณีที่มีการร้องทุกข์หรือยื่นฟ้องต่อศาลไว้ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี (ข้อ 12 วรรสอง)

                       หากผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามความตกลงยินยอมหรือปฏิบัติ
ไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจำหน่ายข้อพิพาทออกจากสารบบฯ (ข้อ 14)

................................................................


ขอขอบคุณ

ส่วนกฎหมาย สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัย
3/12 ถ.อู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทร: 02-637-3000 ต่อ 3367-8


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น