วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน กับโดยผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งฯ

           ผู้เขียนจะพยายามอธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียนให้เป็นภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ  จะเลี่ยงคำศัพท์กฎหมายที่ต้องตีความ แต่ก็จะต้องไม่ทำให้ภาษากฎหมายต้องเสียความหมายหรือด้อยลง    ดังนั้นข้อเขียนที่เนื้อหาเล็กๆ นี้อาจจะยืดยาว ต้องใช้เวลาอ่านนาน ผู้เขียนต้องขออภัยมาล่วงหน้าก่อนนะครับ  และสำหรับตัวบทกฎหมาย ประกาศกฎกระทรวงฯ ข้อบังคับฯ ใดๆ ที่ผู้เขียนกล่าวถึง ขอให้ท่านไปคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Link ที่มุมล่างขวามือของหน้าบล็อกนี้ที่ผู้เขียนได้โยงไว้ให้นะครับ

จากที่เราทราบกันมาแล้วว่า  การจะระงับข้อพิพาทในชุมชนเพื่อให้เกิดความสามัคคี ความสงบสุขแก่ชุมชนไม่ว่าจะระดับหมู่บ้านหรือระดับที่สูงกว่านี้ขึ้นไปนั้น  การไกล่เกลี่ยถือได้ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด  ซึ่งรัฐเองก็ได้มองเห็นความสำคัญนี้มานานแล้ว  จะเห็นได้ชัดเจนจากใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๗   ที่กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรม สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

การประนีประนอมข้อพิพาทในระดับชุมชนระดับหมู่บ้าน  ได้มีการบัญญัติเป็นข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี ๒๕๓๐  เป็นการเจตนาที่จะให้ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ทำการระงับข้อพิพาทที่ลูกบ้านในหมู่บ้านของตนเกิดข้อขัดแย้งโต้เถียงกัน  ซึ่งเมื่อลูกบ้านคู่พิพาทสามารถตกลงยุติการพิพาทกันได้แล้ว ต่างก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสงบสุข มีความเรียบร้อยในชุมชน แล้วยังจะเป็นการสร้างความสมานฉันท์แก่สังคมต่อไป  อันจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย


ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐ กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้าน(ดู พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๒๘ ตรี) ทำการประนีประนอมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านได้ ทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่งหรือความอาญาที่เป็นความรับผิดอันยอมความได้
 

ข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น มีตั้งแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ,  การผิดสัญญา ผิดข้อตกลงใดๆ ต่อกัน จนถึงการกระทำความผิดทางอาญา  หากเป็นความผิดทางอาญาที่ยอมความต่อกันได้ คณะกรรมการหมู่บ้านก็สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นๆ ได้ และหากคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ ก็ให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทขึ้นมา โดยให้คู่พิพาทต่างลงชื่อไว้ในบันทึกนี้

เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมข้อพิพาท  การจะบังคับให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นรับผิดตามสัญญาฯ  คู่พิพาทอีกฝ่ายก็จะต้องนำสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทนี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาฯ ต่อไป 

ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐  มาตรา ๑๔ ที่ให้เพิ่มความเป็นมาตรา ๖๑/๑  มาตรา ๖๑/๒  และมาตรา ๖๑/๓  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔   โดยที่มาตรา ๖๑/๒  มีสาระสำคัญกำหนดให้แต่ละอำเภอ มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทฯ  ซึ่งต่อมาก็ได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  และมาตรา ๖๑/๓  มีสาระสำคัญกำหนดให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งก็ได้ออกเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  

เจตนาในการออกกฎกระทรวงฯ ทั้งสองนี้  มุ่งหวังผลยิ่งเพื่อให้การที่ระงับข้อพิพาทให้สามารถยุติกันได้ในชุมชนและมีผลตามกฎหมายโดยมิต้องนำการผิดข้อตกลงไปกล่าวฟ้องร้องต่อศาลกันอีก อันจะทำให้เป็นคดีที่รกโรงรกศาลอีกด้วย

ในทางแพ่ง เมื่อคู่พิพาทตกลงกันได้และทำบันทึกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ทำให้ข้อเรียกร้องเดิมของคู่พิพาทได้ระงับสิ้นไปและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ  หากคู่พิพาทฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่พิพาทอีกฝ่ายก็สามารถนำความไปร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำบังคับแก่คู่พิพาทที่ผิดสัญญาได้เลยโดยไม่จำต้องนำไปฟ้องเป็นคดีใหม่

หรือในความผิดที่มีโทษทางอาญา(ที่ยอมความกันได้) เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาได้ยินยอมเป็นหนังสือตามที่ไกล่เกลี่ยและปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ยแล้ว ทำให้คดีอาญาที่พิพาทกันมาก่อนนั้นเป็นอันเลิกกันไปคือไม่อาจนำเรื่องที่พิพาทกันมานี้ไปฟ้องร้องต่อศาลได้

จะสังเกตได้ว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  และกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ทั้งสองฉบับนี้ น่าจะมีพื้นฐานมาจากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐  แต่ต้องการให้มีผลของกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แม้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น

                                                  ....................................... 



หมายเหตุ     เพื่ออ่านประกอบข้อเขียนนี้ 

คณะกรรมการหมู่บ้าน ตั้งขึ้นโดยอาศัย  พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๘ ตรี  และการที่คณะกรรมการหมู่บ้านจะปฏิบัติหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ นั้น  มีระเบียบให้ปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐ โดยขอยก พ.ร.บ.ฯ และข้อบังคับฯ ทั้งสองมาให้อ่านดังนี้นะครับ


พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗


มาตรา ๒๘ ตรี ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากผู้ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสิบคน

คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ
ให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน
ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรใดจะมีสิทธิเป็นกรรมการหมู่บ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

วิธีการเลือกและการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการปฏิบัติหน้าที่ การประชุม และการวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะกรรมการหมู่บ้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                     ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้กระทรวงมหาดไทยจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

.................................................................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น