วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บุคคลภายนอกเข้ามาค้ำประกันหนี้ให้แก่คู่พิพาทที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย จะบังคับกันได้หรือไม่เพียงไร


          ในการไกล่เกลี่ยฯ ข้อพิพาททางแพ่ง เรื่องกู้ยืมเงิน  หากมีบุคคลภายนอกเข้ามาค้ำประกันลูกหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จะสามารถใช้บังคับกันได้หรือไม่อย่างไร 

กรณีสมมุติ

          นายแดง ทำสัญญากู้ยืมเงินนายดำเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ตกลงจะใช้คืนให้ภายใน ๖ เดือน แต่หลังจากครบกำหนด ๖ เดือนแล้ว นายแดงก็มิได้นำเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนนายดำแต่อย่างใด  นายดำจึงมายื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อให้ดำเนินการไกล่เกลี่ย นายแดงก็ยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ  มีคณะผู้ไกล่เกลี่ยครบถ้วน ครั้นเมื่อถึงวันนัดทำการไกล่เกลี่ย นายแดงบอกว่าตนมีอาชีพรับจ้าง ไม่มีเงินเป็นก้อนที่จะชำระในครั้งเดียวหมด  จะขอผ่อนชำระให้แก่นายดำเป็นเดือนๆ ละ ๒,๐๐๐  บาท  นายดำเห็นว่านายแดงมีอาชีพและรายได้ที่ไม่แน่นอน เกรงว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้มาทุกเดือน จึงบอกให้นายแดงไปหาคนที่น่าเชื่อถือมาค้ำประกัน ถึงจะยอมตกลง  การไกล่เกลี่ย จึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีกครั้ง  

เมื่อถึงกำหนด นายแดงได้นำนายเหลืองมาเพื่อให้นายเหลืองเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของตน คณะผู้ไกล่เกลี่ยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้น มีใจความว่า

นายแดงตกลงจะชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นายดำเป็นเงินจำนวน ๕๕,๐๐๐  บาท โดยจะผ่อนชำระให้เป็นรายเดือนๆ ละ ๒,๐๐๐  บาท เริ่มเดือนแรกวันที่    กรกฎาคม  ๒๕๕๕  และต่อไปทุกวันที่ ๕  ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบจำนวน  หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้นายดำขอศาลออกคำบังคับได้ทันที พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินต้นที่ค้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

อนึ่ง ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้  ได้มีนายเหลือง ขอเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของนายแดง โดยสัญญาว่า หากนายแดงผิดนัดชำระหนี้แก่นายดำ นายเหลืองขอรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายแดงทุกประการ  และการที่นายดำยินยอมผ่อนผันการชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่งแล้ว  ให้ถือว่านายเหลืองทราบและยินยอมในการผ่อนผันในครั้งๆ นั้นด้วย 

กรณีเช่นนี้  หากนายแดงได้ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ยอมผ่อนชำระตามที่ตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความแก่นายดำ  เมื่อนายดำไปทวงถามเอากับนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  นายเหลืองก็นิ่งเฉย  ทำไม่รู้ไม่ชี้และไม่ชำระหนี้แทนนายแดงตามที่ตนระบุในสัญญาค้ำประกัน  นายดำจึงไปยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อขอให้อัยการไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลออกคำบังคับไปยังนายแดง ให้ทำการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดภายใน  ๓๐  วัน  หากพ้นกำหนดนี้แล้วยังไม่ชำระ ก็จะดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีกับนายแดงและนายเหลืองต่อไป

สำหรับนายแดงน่ะ  สามารถออกคำบังคับได้แน่นอนอยู่แล้ว  แต่นายเหลืองล่ะ นายดำจะขอออกคำบังคับได้ด้วยหรือไม่ โดยอาศัยการที่นายเหลืองได้เข้ามาแสดงตนขอเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนายแดงต่อคณะผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างถูกต้องตามประกาศกฎกระทรวงฯ 

ผู้เขียนขอยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๔  มาเพื่อคุยหารือกันนะครับ

มาตรา ๒๗๔  ถ้าบุคคลใด  ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือประกันหรือโดยวิธีอื่น   เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หรือคำสั่ง หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่

ยกตัวอย่าง เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลให้มีการชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยไม่มีผู้ค้ำประกัน  จำเลยผู้กู้ก็อยากจะยอมความ อยากจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย  แต่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เห็นว่าจำเลยเป็นคนหลักลอย ทำงานมั่ง ไม่ทำมั่ง โจทก์ก็เลยอยากให้จำเลยหาบุคคลที่ฐานะดีกว่าจำเลยมาค้ำประกัน  จำเลยก็ได้ไปนำญาติของตนมาศาล  ขอเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยในสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำต่อศาลนี้

ตามความในมาตราที่ยกมาข้างต้น ยอมให้ทำได้ ยอมให้ญาติจำเลยเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โดยระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเลย   หากจำเลยผิดนัดชำระจนเป็นเหตุให้โจทก์ดำเนินการเพื่อยึดทรัพย์บังคับคดีกับจำเลยและญาติจำเลยคนนี้ได้โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องญาติจำเลยเป็นคดีขึ้นใหม่ แม้ในคำฟ้องเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ จะไม่ปรากฏมีญาติจำเลยคนนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมมาตั้งแต่แรกก็ตาม  เรียกว่ามีผลใช้บังคับกันได้เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน

ทีนี้ก็ขอวกกลับไปที่เรื่องหนี้ระหว่างนายแดงนายดำว่า จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๔  มาใช้บังคับกับนายเหลืองด้วยได้หรือไม่

สำหรับผู้เขียนเอง มีความเห็นว่า ในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งนี้  เป็นการที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและตามที่กำหนดไว้ในประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ซึ่งในประกาศฯ มิได้บอกให้นำเรื่องนั้น มาตรานี้  จากกฎหมายโน้นมาใช้โดยอนุโลม  การที่นายเหลืองเข้ามาค้ำประกันการชำระหนี้ของนายแดง ก็เป็นการเข้ามาค้ำประกันในที่ว่าการอำเภอ  ซึ่งที่ว่าการอำเภอมิใช่ศาลสถิตยุติธรรม   จึงไม่อาจที่จะนำมาตรา ๒๗๔ นี้ มาใช้กับกระบวนการไกล่เกลี่ยของอำเภอได้เลย

ดังนั้น หากนายดำจะบังคับเอาจากนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันนายแดงแล้ว  นายดำจะต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนั้นไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมเป็นคดีใหม่  เล่นกันอีกหลายเดือนเลยกว่าศาลจะมีคำพิพากษานายเหลืองน่ะ

ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อครั้งได้รับการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยตามบัญชีรายชื่อของอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ ต้นปี ๒๕๕๔  ผู้เขียนคิดแบบชาวบ้านว่า หากกำลังไกล่เกลี่ย แล้วอีกฝ่ายต้องการให้มีคนอื่นเข้ามาค้ำประกัน คนค้ำประกันจะลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่  แล้วจะบังคับกันอย่างไรได้หรือไม่  เพราะถ้าไม่มีใครมาค้ำประกัน การไกล่เกลี่ยก็อาจไม่ยุติได้ง่ายๆ  จึงได้สอบถามท่านวิทยากร(อีกแล้ว)ในเรื่องนี้ โดยถามเทียบว่าคนที่เข้ามาค้ำประกัน มิใช่คู่พิพาทมาแต่แรก  การเข้ามาค้ำประกันก็ทำที่อำเภอ มิใช่ทำในศาล จะเอามาตรา ๒๗๔ นี้ใช้ได้หรือไม่

ท่านวิทยากรตอบว่า ..ใช้ได้ เพราะเมื่อบุคคลภายนอกเข้ามาลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ถือได้ว่าเป็นคู่พิพาทแล้ว  ใช้บังคับได้แม้จะไม่ได้ทำกันในศาล ให้ใช้ไปก่อน  ปล่อยให้มีปัญหาเกิดขึ้น เดี๋ยวก็จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกันเอง....

ผู้ไกล่เกลี่ยที่เข้ารับการอบรมหลายๆ ท่านในห้องประชุมก็เห็นพ้องกันว่า  ..ได้  ได้  ได้อยู่แล้ว..

เมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกว่าได้  ได้  ผู้เขียนก็ต้องเงียบล่ะครับ  ต้องให้ความเคารพต่อวิทยากร เพราะหากไม่มีพวกท่าน พวกเราก็จะหาความรู้ในเรื่องไกล่เกลี่ยมิได้เลย  เรื่องที่ผู้เขียนสงสัยมีน้อยนิด แต่ได้เรื่องที่มีประโยชน์อย่างคณานับ เทียบกันไม่ได้ 

ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าเนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยตามประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ เป็นเรื่องใหม่ เป็นกฎหมายใหม่ๆ สดๆ ข้อบัญญัติก็มีไม่มากนัก  จะเน้นไปในทางที่ให้ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ดำเนินการระงับข้อพิพาทที่น่าจะคุยกันในระดับคนในชุมชนเดียวกันลงให้ได้โดยเร็ว ไม่ต้องเอะอะๆ ก็นำข้อพิพาทโต้แย้งกันไปฟ้องร้องต่อศาล  ทำให้มีคดีเล็กๆ น้อยๆ รกศาลมากมาย  ผู้เขียนก็เชื่อว่าโอกาสข้างหน้าที่การไกล่เกลี่ยจะเกิดปัญหาของในส่วนที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็จะต้องมีขึ้นแน่นอน และจะเป็นทางไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกฎกระทรวงฯ ที่ละฉบับๆ เช่นเดียวกับกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองทั้งหลายแหละครับ 

ผู้เขียนได้แอบภาวนาขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกฎกระทรวงฯ นี้ ให้ในชั้นบังคับคดีเอากับคู่พิพาทนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้แย่งกันขอเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีแทนคู่พิพาทฝ่ายที่ร้องขอ เช่น เงินวางประกันการยึดทรัพย์ เงินค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ 

ไหนๆ เมื่อประสงค์จะให้คู่พิพาทไม่ต้องไปฟ้องศาลเองให้เสียเงินค่าฤชาธรรมเนียม  ไม่ต้องเสียเงินค่าทนายความแล้ว  ก็ควรที่จะไม่ต้องให้เสียเงินค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีด้วยเลย น่าจะดีนะครับ   

ขอขอบพระคุณแทนชาวบ้านมาล่วงหน้าหลายๆ ปีเลยนะครับ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น