วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผู้ไกล่เกลี่ยฯ จะเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาได้หรือไม่

ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง  จะเข้าเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้และไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ได้หรือไม่

จากการที่เมื่อต้นปี ๒๕๕๔  ผู้เขียนได้เข้ารับการอบรมการปฏิบัติหน้าที่และเข้าร่วมฟังการอบรม ”ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง” ในระดับอำเภอ  รวม    ครั้ง  ผู้เขียนได้ฟังวิทยากรที่มาอบรม ได้แนะนำวิธีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  เสร็จแล้ว ก็จะต่อด้วยวิธีการเข้าไปทำการไกล่เกลี่ยความผิดอาญาของผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  จนจบทั้งสองครั้ง   เผอิญผู้เขียนได้บังอาจศึกษากฎกระทรวงฯ ทั้งสองเพื่อแอบทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้ารับการอบรมแล้ว เห็นว่า 

ในกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ข้อ ๒  ให้คำจำกัดความ “ผู้ไกล่เกลี่ย” หมายความว่า บุคคลที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

ส่วนในกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ข้อ ๓  บัญญัติว่า “บรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใด  ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมหรือแสดงความจำนงให้มีการไกล่เกลี่ย  ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอของอำเภอนั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแก่กรณี”

และหากเข้าไปอ่านกฎกระทรวงฯ ทั้งสอง จะแยกได้ว่า ข้อพิพาททางแพ่งจะมีบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย มีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอหรืออัยการเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย  ส่วนข้อพิพาททางอาญาจะมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย

แล้วการที่ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งจะเข้าไปทำการไกล่เกลี่ยความผิดอาญานั้นน่ะ  มีสิทธิมีอำนาจหรือไม่ แล้วหากบังเอิญไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ผู้ไกล่เกลี่ยฯ นี้ได้ถูกเข้าไปทำการไกล่เกลี่ยจนมีการทำหนังสือตกลงยินยอมระหว่างผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาแล้ว  หนังสือนี้จะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่   ผู้เขียนจึงเรียนถามวิทยากรว่า ในกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ไม่มีการกล่าวถึงผู้ไกล่เกลี่ยตามบัญชีรายชื่อเลย  แล้วจะให้เข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้หรือ  วิทยากรตอบว่า  “ได้  ทำไปเถอะ เพื่อให้ข้อขัดแย้งได้ยุติลง”  ผู้เขียนก็มิได้ถามหรือตอบรับใดๆ ต่อ 

ขณะนั้น ผู้เขียนคิดอยู่ในใจเป็นปัญหาสามแนวทาง  คือ

แนวทางแรก   หากจะได้มีการไกล่เกลี่ยความผิดอาญา  แบบฟอร์มของกรมการปกครองที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจะต้องลงรายการ ลงสารบบจะต้องมีระบุตำแหน่งของผู้ไกล่เกลี่ยไว้แล้วว่า....นายอำเภอ/ปลัดอำเภอ     ผู้ทำการไกล่เกลี่ย....   แล้วผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งจะไปลงชื่อช่องไหน ในฐานะอะไร

แนวทางที่สอง   หากจะให้ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งทำการไกล่เกลี่ย ก็น่าที่จะเป็นลักษณะของเข้าไปในฐานะเป็นบุคคลที่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้ใจ ให้เข้ารับฟังการไกล่เกลี่ยได้ ตามที่ระบุในข้อ ๘  แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓   ซึ่งในทางปฏิบัติและเป็นไปได้ก็คือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเคารพนับถือในตัวผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง  อยากให้เข้าไปช่วยเจรจากับอีกฝ่าย  ไม่อยากเข้าคุกเข้าตะราง ซึ่งบางทีอีกฝ่ายก็อาจให้ความเคารพเป็นทุนอยู่แล้ว  การจะเข้าไปช่วยเจรจาเช่นนี้ จะช่วยให้เกิดข้อยุติได้ง่าย  และเชื่อว่านายอำเภอหรือปลัดอำเภอที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ก็จะยินดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย  และเมื่อจะต้องมีการลงชื่อในหนังสือตกลงยินยอม อย่างน้อยก็ให้ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งลงชื่อในฐานะ ..พยาน..น่าจะเหมาะสมและเป็นการให้เกียรติที่ได้มีส่วนช่วยไกล่เกลี่ยจนยุติลงได้

แนวทางที่สาม   สมมุตินะครับ  สมมุติว่าผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง เข้าใจว่าตนได้เข้าเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความผิดอาญา แล้วจะได้รับเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางในการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เช่นกับที่ได้รับจากการไกล่เกลี่ยฯ ข้อพิพาททางแพ่งแล้ว  ทางอำเภอก็ไม่สามารถจะตั้งเบิกค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ได้เลย  แต่แนวทางนี้ ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะอยู่ในความคิดของผู้ไกล่เกลี่ยฯ  เพราะผู้ไกล่เกลี่ยฯ ตามบัญชีรายชื่อ ต่างสมัครเข้ามาด้วยจิตอาสา  เพื่อการช่วยเหลือสังคมให้มีความสงบสุข มีความสมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน  อาจไม่ทราบมาแต่แรกว่าการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยฯ นี้ มีค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้


ผู้เขียนเห็นว่า หากตีความตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓ แล้ว ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ไม่อาจเข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาได้เลย และหากเข้าไปทำการไกล่เกลี่ยจนกระทั่งมีการทำหนังสือตกลงยินยอมแล้ว หนังสือตกลงยินยอมดังกล่าวก็มิอาจใช้บังคับต่อกันได้(ขอแก้ไขเพิ่มเติม : ที่กล่าวว่ามิอาจใช้บังคับต่อกันได้นี้ หมายถึงใช้บังคับตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓   แต่หนังสือยินยอมที่ได้ทำไว้นั้นอาจไม่สูญเปล่า สามารถใช้เป็นหนังสือประนีประนอมยอมความกันได้ แต่ต้องอยู่ในเรื่องของอายุความด้วย....๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕) 

ผู้เขียนอยากฟังความคิดเห็นของผู้ไกล่เกลี่ยฯ หรือผู้อ่านทุกท่าน  ขอทุกท่านได้นำออกมาแบ่งปัน มาแชร์ มาปรับแก้ มาจูนเข้าหากัน เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น