วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ประนีประนอมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐


ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ประนีประนอมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐


ครุฑ



                    เพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทปฏิบัติหน้าที่ในการประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างราษฎรในหมู่บ้านให้เป็นไปโดยถูกต้องและระเบียบ  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕  แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗  และมาตรา ๕  แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้

                    ข้อ ๑    ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐”

                    ข้อ ๒    ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป

                    ข้อ ๓    ในข้อบังคับนี้

                    “นายอำเภอ” หมายความรวมถึง ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ

                    “คณะกรรมการหมู่บ้าน” หมายความรวมถึง คณะกรรมการหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗  และคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒”

                    ข้อ ๔    ให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำการประนีประนอมข้อพิพาทได้เมื่อ

(๑)     เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่งหรือความอาญาที่เป็นความรับผิดอันยอมความได้

(๒)     คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงให้คณะกรรมการหมู่บ้านประนีประนอมข้อพิพาท และ

(๓)     ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้าน

ข้อ ๕    เมื่อมีข้อพิพาทตามข้อ ๔ เกิดขึ้น และคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้ข้อพิพาทนั้นยุติลงในระดับหมู่บ้าน ก็ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านทราบ และผู้ใหญ่บ้านแจ้งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาตกลงทำบันทึกยินยอมให้คณะกรรมการหมู่บ้านประนีประนอมข้อพิพาทตามแบบท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ ๖    เมื่อผู้ใหญ่บ้านได้ดำเนินการตามข้อ ๕ แล้ว ให้นัดหมายคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งอยู่ในหมู่บ้านขณะที่นัดหมายทำการประนีประนอมข้อพิพาทโดยมิชักช้า

ในการทำหน้าที่ประนีประนอมข้อพิพาท คณะกรรมการหมู่บ้านจะมอบหมายให้กรรมการไม่น้อยกว่าสองคนดำเนินการแทนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการประนีประนอมข้อพิพาท คณะกรรมการหมู่บ้านหรือคู่กรณีจะเชิญบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเข้ามาร่วมทำการประนีประนอมข้อพิพาทด้วยก็ได้ 

ข้อ ๗    ในการประนีประนอมข้อพิพาทให้คณะกรรมการหมู่บ้านดำเนินการ ดังนี้ 

(๑)     สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่กรณีและบุคคลอื่นที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท

(๒)     เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงในกรณีที่จำเป็น

(๓)     ตรวจสอบเอกสาร หรือวัตถุ หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องตามความยินยอมของเจ้าของหรือผู้

  ครอบครอง

                    การประนีประนอมข้อพิพาทให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่กรณี

                    การประนีประนอมข้อพิพาทให้กระทำ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร

                    ข้อ ๘    เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านได้ข้อเท็จจริงจากคู่กรณี หรือพยานบุคคล หรือพยานเอกสาร วัตถุพยาน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ประนีประนอมข้อพิพาทโดยอาศัยหลักกฎหมาย หรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี

                    ถ้ามีปัญหาในการประนีประนอมข้อพิพาท คณะกรรมการหมู่บ้านจะเชิญบุคคลตามข้อ ๑๒ มาให้คำปรึกษาก็ได้

                    ข้อ ๙    ถ้าคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ ให้ยุติการประนีประนอมข้อพิพาทนั้น และแจ้งให้คู่กรณีทราบแล้วรายงานให้นายอำเภอท้องที่ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

                    ถ้าคู่กรณีตกลงประนีประนอมกันได้ ให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้น ๔ ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน อ่านและอธิบายข้อความให้คู่กรณีเข้าใจและให้ลงลายมือชื่อในสัญญานั้น โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้านอย่างน้อยสองคนลงนามเป็นพยานในสัญญา มอบให้คู่กรณีถือไว้ฝ่ายละฉบับ คณะกรรมการหมู่บ้านเก็บไว้บันทึกยินยอมให้ประนีประนอมข้อพิพาทหนึ่งฉบับให้ผู้ใหญ่บ้านส่งอำเภอหนึ่งฉบับพร้อมกับแบบรายงานตามข้อ ๑๑

                    ข้อ ๑๐   เมื่อดำเนินการประนีประนอมข้อพิพาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าคู่กรณีจะตกลงหรือไม่ตกลงตามที่ประนีประนอมข้อพิพาทก็ตาม ให้คณะกรรมการหมู่บ้านบันทึกผลการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้านไว้ท้ายบันทึกยินยอมให้ประนีประนอมข้อพิพาทและมอบให้ผู้ใหญ่บ้านเก็บรักษาไว้ เมื่อมีการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ให้มีการส่งมอบเอกสารการประนีประนอมข้อพิพาทนั้นแก่ผู้ดำรงตำแหน่งใหม่

                   ข้อ ๑๑   ให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานผลการประนีประนอมข้อพิพาทแก่นายอำเภอท้องที่ตามแบบท้ายข้อบังคับนี้ทุกเดือนในวันประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน

                   ข้อ ๑๒   ให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ข้าราชการตำรวจยศตั้งแต่นายร้อยตรีขึ้นไปภายในเขตอำเภอและพนักงานอัยการให้คำแนะนำปรึกษา ตลอดจนร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนในการฝึกอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการหมู่บ้านในเขตท้องที่ เมื่อได้คำแนะนำปรึกษาแล้ว ให้บันทึกไว้ในสมุดตรวจการปฏิบัติงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ปค. ๒ ก)

                    ข้อ ๑๓   ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามข้อบังคับฉบับนี้


                                                         ประกาศ ณ วันที่  ๒๔  ธันวาคม  ๒๕๓๐


                                                      (ลงนาม)  พลเอก ประจวบ   สุนทรางกูร

                                                                    (ประจวบ   สุนทรางกูร)

                                                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น