วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตารางเปรียบเทียบการระงับข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน กับผู้ไกล่เกลี่ยฯ



คณะกรรมการหมู่บ้าน
ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง
การเสนอข้อพิพาท
แจ้งผู้ใหญ่บ้าน
ทำเป็นคำร้องยื่นต่อนายอำเภอ
ประเภทของข้อพิพาท
ความแพ่งหรือความผิดอาญาที่ยอมความได้
เฉพาะข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน, มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ระยะเวลาของการไกล่เกลี่ย
ไม่ได้กำหนดเวลา แต่ให้ดำเนินการโดยมิชักช้า เมื่อได้รับแจ้ง
- เมื่อได้รับคำร้อง  นายอำเภอแจ้งแก่คู่พิพาทอีกฝ่ายทราบเพื่อสอบถามความประสงค์
- หากฝ่ายนั้นยอมเข้าสู่การไกล่เกลี่ย นายอำเภอต้องมีหนังสือแจ้งทุกฝ่ายให้มาเลือกผู้ไกล่เกลี่ย
- เมื่อเลือกได้แล้ว ให้นัดผู้ไกล่เกลี่ยภายใน ๗ วัน เพื่อพิจารณาคำร้อง
- นายอำเภอส่งหนังสือนัดวันไกล่เกลี่ยภายใน ๗ วัน นับแต่วันพิจารณารับคำร้อง
- ต้องไกล่เกลี่ยให้เสร็จภายใน ๓ เดือน แต่หากจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกินครั้งละ ๓ เดือน  แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๑ ปี
การเชิญบุคคลอื่นมาให้คำปรึกษา
เชิญนายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายตำรวจหรืออัยการ มาให้คำปรึกษาได้
นำพยานบุคคลเข้าชี้แจงหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
สถานที่ไกล่เกลี่ย
ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร
ที่ว่าการอำเภอหรือสถานที่ราชการอื่นตามที่เห็น สมควร
อายุความ
การแจ้งฯ ไม่เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
อายุความในการฟ้องร้องคดีสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่ยื่นคำร้องหรือวันที่อำเภอได้รับหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ ถึงวันที่คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยฯ สั่งจำหน่ายข้อพิพาทหรือวันที่คู่พิพาททำสัญญาประนี ประนอมยอมความกันแล้วแต่กรณี
(แต่หากระหว่างการไกล่เกลี่ยฯ มีการบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยฯจำหน่ายคำร้อง และให้ถือว่าไม่เคยได้รับคำร้องมาแต่ต้น กรณีนี้ อายุความก็จะไม่เคยสะดุดหยุดลงมาแต่ต้นเช่นกัน)
ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
คู่พิพาทได้สิทธิตามสัญญาประนี ประนอมฯ นี้เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ผูกพันคู่พิพาททุกฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ  การจะบังคับตามสัญญาฯ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับอีกฝ่ายให้ปฏิบัติตามสัญญาประนี ประนอมยอมความที่ได้ทำไว้
คู่พิพาทได้สิทธิตามสัญญาประนี ประนอมฯ นี้ เทียบได้กับคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยศาล  หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ  อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลออกคำบังคับตามสัญญาฯ ได้เลย โดยมิต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล






























































            จะเห็นได้ว่า ในการระงับข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก  สะดวก รวดเร็ว  พิพาทกันที่หมู่บ้านไหน ก็แจ้งกับผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นหรือหมู่บ้านของอีกฝ่ายก็ได้  การติดต่อคณะกรรมการหมู่บ้านนั้นๆ ก็สะดวกเช่นกัน  เพราะหมู่บ้านเป็นชุมชนขนาดเล็ก  การประสานการติดต่อกันได้ในระยะเวลาไม่มาก  การเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทจึงสามารถกระทำได้ในเวลารวดเร็ว
          แต่ในการระงับข้อพิพาทโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง  มีขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน และเป็นหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทในชุมชนระดับอำเภอ ซึ่งกว้างขวางกว่าระดับหมู่บ้านหลายเท่า การประสานการติดต่อจึงจะใช้เวลามากกว่าระดับหมู่บ้าน   อีกทั้งหากการไกล่เกลี่ยยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ก็ยังสามารถที่จะขยายเวลาออกไปได้เรื่อยๆ  แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๑ ปี  หากจะทำแบบรวบรัด เข้าทางลัดเพื่อให้คู่พิพาทตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว  หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และเมื่อมีการตรวจกระบวนการพิจารณาตั้งแต่ยื่นคำร้องจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลเห็นว่ามิได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ เช่นอำเภอมิได้ส่งหนังสือแจ้งวันเวลา สถานที่นัดหมายการไกล่เกลี่ยฯ ให้แก่คณะผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาททุกฝ่ายทราบ  แต่ใช้วิธีโทรศัพท์หรือฝากบอกต่อๆ กันไป  คู่พิพาทฝ่ายที่ต้องรับผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้ถูกอัยการร้องขอให้ศาลออกคำบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม อาจนำความนี้ไปยื่นคำร้องต่อศาลและศาลอาจเห็นว่าสัญญาประนีประนอมกันที่ทำกันไว้นั้น มิได้ทำให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ จริง ศาลอาจยกคำร้องของอัยการได้   ความคิดตามวรรคนี้ ผู้เขียนได้ความคิดมาจากที่เคยได้รับฟังเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้าน(กองทุนเงินล้าน) แห่งหนึ่งว่า กองทุนนั้นได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาล  ในชั้นสืบพยานโจทก์ยื่นเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงินครบถ้วน  แต่เมื่อศาลถามโจทก์ว่าทางกองทุนได้ประชุมกรรมการและมีมติให้ฟ้องลูกหนี้รายนี้แล้วหรือยัง  โจทก์ตอบว่ายัง ศาลเลยยกฟ้องคดีนี้  จะเท็จจริงประการใด ผู้เขียนยังไม่ขอรับรอง เพราะไม่ได้ยินว่าฟ้องกันที่ศาลใด  แต่ก็เคยได้ยินจากอัยการที่ไปร่วมประชุมกับตัวแทนกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ได้บอกว่า หากกองทุนหมู่บ้านใดจะส่งลูกหนี้ให้อัยการฟ้องให้  จะต้องมีเอกสาร ฯ..........มติที่ประชุมกรรมการให้ฟ้องลูกหนี้ชื่อ............ ฯ   ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาอนุมานกับเรื่องการไกล่เกลี่ยฯ เพื่อให้เกิดความระมัดระวังและกังวลเล่นๆ ไปพลางๆ ก่อน
         


             แต่ถ้าหากพิจารณาถึงเจตนาของการออกประกาศกฎกระทรวงฯ นี้ ก็ด้วยมุ่งหวังที่จะให้ทางอำเภอร่วมกับคณะผู้ไกล่เกลี่ยฯ ร่วมกันหยุดยั้งการนำคดีความทั้งหลายให้ไม่ต้องไปถึงโรงถึงศาลแล้ว ศาลอาจมองได้ว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นนี้ ก็ด้วยการยินยอมพร้อมใจตกลงที่จะทำสัญญาให้มีผลผูกพันต่อกัน  จึงอาจสั่งอนุญาตตามคำร้องที่อัยการเสนอก็ได้  ทั้งนี้และทั้งนั้น คงจะต้องรอดูว่า ใครในประเทศไทยจะเป็นคนแรกที่ถูกอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับ แล้วเขาคนนั้นยกเหตุที่ผู้เขียนยกตัวอย่างขึ้นต่อสู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น