วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ข้อบังคับของชมรมฯ

ข้อบังคับ

ชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่



ลักษณะที่  1     บททั่วไป

หมวดที่ 1   ชื่อและบทนิยาม  เครื่องหมาย  สถานที่ตั้ง



ข้อ 1       ข้อบังคับนี้เรียกว่า  ข้อบังคับชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ”  

ข้อ 2       เครื่องหมายชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่
               สองมือจับกันและมีตราชูสีทองอยู่เหนือมือที่จับกัน  

ข้อ 3       ชมรมมีที่ตั้ง ณ เลขที่  13/9  หมู่ที่  4   ตำบลท่าศาลา  อำเภอเมืองเชียงใหม่   จังหวัดเชียงใหม่

ข้อ 4       ในข้อบังคับนี้

                              ก.  ชมรม   หมายถึง   ชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่

                              ข. คณะกรรมการ  หมายถึง   คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่   

                              ค.   สมาชิก   หมายถึง   สมาชิกชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่

                              ง.  ผู้ไกล่เกลี่ย   หมายถึง   บุคคลที่มีรายชื่อเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ประจำอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ตามที่นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อ โดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด


หมวดที่ 2   วัตถุประสงค์


ข้อ 5       ชมรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมร่วมกันและช่วยเหลือแก้ไขข้อพิพาทของประชาชนโดยการหันหน้าเข้าหากัน  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกและประชาชน   ซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ต่อไปนี้คือ  

ก.        เพื่อเป็นศูนย์กลางการบอกกล่าวการติดต่อประสานงาน แลกเปลี่ยนระดับจังหวัด
ข.       เพื่อสนับสนุนหน่วยงาน  องค์กรผู้ไกล่เกลี่ย
ค.        เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะผู้ไกล่เกลี่ย
ง.        เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมของผู้ไกล่เกลี่ยและประชาชนในระบบยุติธรรมทางเลือก
จ.        เพื่อส่งเสริมทักษะ  สร้างศักยภาพของผู้ไกล่เกลี่ย



 ลักษณะที่  2     สมาชิก

หมวดที่ 1   อำนาจหน้าที่ของสมาชิก


ข้อ 6       สมาชิกชมรมมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นใดในชมรม  ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ก.      เป็นผู้มีความประพฤติดีเรียบร้อย
ข.      ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
ค.      ไม่เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุก หรือไม่เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถ  หรือเสมือนไร้ความสามารถ  เว้นแต่เป็นความผิดฐานประมาท  หรือความผิดลหุโทษ 

ข้อ 7       สมาชิกมีสิทธิเสนอญัตติต่อที่ประชุมใหญ่  เพื่อให้กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง  แต่มติเช่นที่ว่านี้จะต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า  2  ใน  3   ของสมาชิกที่ประชุมใหญ่ 

ข้อ 8       สมาชิกมีสิทธิขอตรวจสอบเอกสารใดๆ  ที่อยู่ในความครอบครองของคณะกรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคณะได้เมื่อมีเหตุผลหรือพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคณะมีการดำเนินการอันไม่สุจริต หรืออาจเป็นผลเสียหายแก่ชมรม  การขอตรวจสอบการดำเนินงาน ให้สมาชิกยื่นเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชมรม  โดยมีสมาชิกชมรมรับรองอย่างน้อย  10  คน 

ข้อ 9       ค่าลงทะเบียนบำรุงชมรมฯ
9.1     ผู้สมัครต้องชำระค่าบำรุงชมรมปีละ  200  บาท (สองร้อยบาท)
9.2     ให้ผู้สมัคร ยื่นใบสมัครตามแบบของชมรมต่อเลขานุการชมรม
9.3     ให้สมาชิกภาพของผู้สมัคร  เริ่มนับแต่วันที่ผู้สมัครยื่นใบสมัครตามแบบของชมรมและชำระค่าบำรุงชมรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ข้อ 10     สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
10.1    มีสิทธิประดับเครื่องหมายของชมรมในโอกาสอันควร
10.2    มีสิทธิใช้สถานที่ตามวัตถุประสงค์ของชมรม  ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบและในลักษณะที่สุภาพ
10.3    มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ
10.4    มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่ได้จัดให้มีขึ้น  ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบของชมรม


หมวดที่ 2   การพ้นจากสมาชิกภาพ


ข้อ 11     การพ้นจากสมาชิกภาพ
ก.      ตาย
ข.      ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชมรม
ค.      ชมรมหยุดดำเนินการ
ง.       คณะกรรมการมีมติเห็นควรให้ออก
จ.      ออกตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.2553 ข้อ 6 

ข้อ 12     เมื่อสมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุดลง  ให้นายทะเบียนขีดฆ่าชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก แล้วแจ้งให้สมาชิกผู้นั้น               ทราบ  และแจ้งให้คณะกรรมการทราบในการประชุมกรรมการ



ลักษณะที่  3     กรรมการชมรม

หมวดที่ 1   กรรมการบริหารชมรม


ข้อ 13     ให้สมาชิกดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารชมรม รวม  25  คน 
ประธานชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่   เป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่งให้กรรมการบริหารชมรมดำเนินการเลือกตั้งประธานชมรม  1  ตำแหน่ง  และ
               13.1     รองประธานชมรม   3   คน
               13.2     นายทะเบียน   1   คน   ผู้ช่วยนายทะเบียน   1   คน
               13.3     เลขานุการ   1   คน   ผู้ช่วยเลขานุการ   1   คน
               13.4     เหรัญญิก   1   คน   ผู้ช่วยเหรัญญิก   1   คน
               13.5     ประชาสัมพันธ์   1   คน   ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์  1  คน
               13.6     ปฏิคม   1   คน   ผู้ช่วยปฏิคม  2  คน
               13.7     ฝ่ายกิจกรรม   1   คน   ผู้ช่วยฝ่ายกิจกรรม   1   คน
               13.8     ฝ่ายกฎหมาย   1   คน   ผู้ช่วยฝ่ายกฎหมาย   2   คน
               13.9     ฝ่ายวิชาการ   1   คน   ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ   2   คน


หมวดที่ 2   กรรมการที่ปรึกษา


ข้อ 14     กรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย
1.         อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
2.         อธิบดีกรมการปกครอง
3.         ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
4.         ปลัดจังหวัดเชียงใหม่
5.         นายอำเภอทุกอำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่
6.       พนักงานอัยการประจำจังหวัดเชียงใหม่


หมวดที่ 3   อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารชมรม


ข้อ 15     คณะกรรมการบริหารชมรมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
ก.      ดำเนินการทั้งปวงของชมรมให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ข.      อำนาจจัดการอื่นใดที่เห็นสมควร  เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของชมรม
ค.      ออกระเบียบใดๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของชมรม  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ 

ข้อ 16     ประธานชมรมนอกจากมีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 15  แล้ว ยังมีหน้าที่
ก.      เป็นประธานในการประชุมต่างๆ
ข.      ประสานงานของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ค.      ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการ
ง.       ควบคุมและกำกับนโยบายของชมรม
จ.      ดำเนินงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่สมาชิก
ฉ.      แต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของชมรม 

ข้อ 17     รองประธานชมรม  ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานชมรมเมื่อประธานชมรมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ 

ข้อ 18     นายทะเบียน  มีหน้าที่
ก.      จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนสมาชิก
ข.      ควบคุมพัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ของชมรม 

ข้อ 19     เหรัญญิก  มีหน้าที่
ก.      ควบคุม เก็บรักษาเงินของชมรม
ข.      จัดทำและเก็บรักษาเอกสารการเงินของชมรม
ค.      จัดทำรายรับ-รายจ่าย และงบดุลเสนอต่อประธานชมรม หรือแจ้งที่ประชุมเมื่อมีการประชุม 

ข้อ 20     เลขานุการ  มีหน้าที่
ก.      ประสานการดำเนินงาน  ติดต่อสื่อสารในกิจการของชมรมตามที่ประธานชมรมมอบหมาย
ข.      จัดระเบียบวาระการประชุม  ดำเนินงานเกี่ยวกับการประชุม และจัดทำรายงานการประชุม เก็บรักษาเอกสาร  เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติกิจการและปฏิบัติตามคำสั่งของประธานชมรม  ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ  รวมทั้งงานที่ไม่ได้จัดให้อยู่ในหน้าที่ของตำแหน่งใดๆ 

ข้อ 21     ประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่
ก.      จัดทำจดหมายข่าวและจุลสารของชมรม
ข.      เผยแพร่กิจกรรมและผลงานของชมรม รวมทั้งของมวลสมาชิก
ค.      เป็นโฆษกชมรม
ง.       จัดทำศูนย์ข้อมูลข่าวสารชมรม 

ข้อ 22     ปฏิคม  มีหน้าที่
ก.      ต้อนรับสมาชิกและผู้ติดต่อกับชมรม
ข.      จัดหาทุนสำรองสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของชมรม
ค.      จัดการประชุมใหญ่สมาชิกและประชุมอื่นๆ นอกเหนือจากการประชุมชมรม 

ข้อ 23     ฝ่ายกฎหมาย  มีหน้าที่
ก.      ดูแลระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของชมรม  ตลอดจนบทบัญญัติข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ย
ข.      ดูแลการปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่  ของสมาชิก เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกฎกระทรวง
ค.      ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานชมรม 

ข้อ 24     ฝ่ายวิชาการ  มีหน้าที่
ก.      ดูแล และให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของชมรม
ข.      ให้ความรู้ทางวิชาการแก่สมาชิกของชมรม
ค.      ศึกษา ค้นคว้า และนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ เพื่อเผยแพร่แก่สมาชิกของชมรม 

ข้อ 25     ฝ่ายกิจกรรม  มีหน้าที่
ก.      ส่งเสริม และดูแลเกี่ยวกับงานของชมรม
ข.      สร้างความเป็นกันเองให้กับสมาชิกของชมรม
ค.      ดำเนินการและกิจกรรมต่างๆ แก่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 

ข้อ 26.    ให้ผู้ช่วยตามข้อ 13.2 – 13.9  ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยและหรือปฏิบัติหน้าที่แทนเมื่อกรรมการตามข้อ 18 – 25  ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 



หมวดที่ 4   การดำรงตำแหน่ง


ข้อ 27     คณะกรรมการบริหารชมรม  อยู่ในตำแหน่งคราวละ  2  ปี  แต่ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่และดำรงตำแหน่งในชมรมติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ  ,  กรณีที่คณะกรรมการอยู่จนครบวาระ  แต่ยังมิได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่  ให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และส่งมอบงานให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายใน  15  วัน นับแต่วันเลือกตั้งเสร็จ 

ข้อ 28     กรรมการชมรม  พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
ก.      ตาย
ข.      ลาออก
ค.      ครบวาระ
ง.       ขาดจากสมาชิกภาพ
จ.      ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียง  2  ใน  3  ให้ออก
ฉ.      ขาดการประชุมติดต่อกัน  3  ครั้ง โดยไม่มีเหตุอันควร 

ข้อ 29     เมื่อกรรมการชมรมตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งว่างลง  นอกจากครบตามวาระ   ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการชมรมใหม่แทนภายใน  30  วัน  ให้กรรมการชมรมที่ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ดำรงตำแหน่งนั้นเท่ากับวาระของกรรมการชมรมผู้พ้นจากตำแหน่ง  เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการชมรมจะสิ้นสุดลงไม่เกิน  30  วัน  



ลักษณะที่  4     การดำเนินงาน

หมวดที่ 1   ทุนดำเนินการ


ข้อ 30     ชมรมอาจหาทุนดำเนินการดังนี้
ก.      จากเงินบำรุงของสมาชิก
ข.      จากเงินอุดหนุน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
ค.      จากการจัดหารายได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ง.       จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 


หมวดที่ 2   การลงลายมือชื่อ


ข้อ 31     ให้ประธานชมรมมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนชมรมในเอกสารทั้งปวง  เว้นแต่เมื่อประธานชมรมไม่อยู่ หรือติดภารกิจไม่อาจลงลายมือชื่อแทนชมรมได้  ให้รองประธานชมรมคนใดคนหนึ่ง ตามข้อ 13.1  ลงลายมือชื่อแทนชมรมได้ 

ข้อ 32     การออกใบสำคัญหรือการสั่งจ่ายเงินของชมรม  ให้บุคคลดังนี้ลงลายมือชื่อ  2 ใน 3 คน
ก.      ประธานชมรม
ข.      เหรัญญิก
ค.      เลขานุการชมรม
ให้บุคคล  (ก)  (ข)  และ  (ค)  มีอำนาจเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร 


หมวดที่ 3   เงินอุดหนุน


ข้อ 33     ชมรมอาจรับเงินอุดหนุน หรือทรัพย์สินของทางราชการ หรือเอกชน หรือหน่วยงานต่างประเทศ
               การรับเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น  ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชมรม


หมวดที่ 4   การเก็บรักษาเงิน


ข้อ 34     ให้เหรัญญิกเป็นผู้เก็บรักษาเงินสดไว้ในมือไม่เกิน  3,000  บาท  ส่วนที่เกินให้นำฝากธนาคารในนามของชมรมโดยมีผู้ถือบัญชี  3  คน ตามข้อ 32


หมวดที่ 5   การจัดตั้งงบประมาณ


ข้อ 35     เมื่อสิ้นปีงบประมาณ  ให้กรรมการจัดตั้งงบประมาณเพื่อให้ประธานชมรมเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณาก่อนดำเนินการ


หมวดที่ 6   การใช้จ่าย

ข้อ 36     ให้ประธานชมรมมีอำนาจก่อหนี้ผูกพัน และอนุมัติจ่ายเงินได้ไม่เกิน  5,000  บาท   การจ่ายมากกว่านั้น ต้องขออนุมัติต่อที่ประชุมกรรมการและรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ 

ข้อ 37     ให้ประธานชมรมมีอำนาจจำหน่าย จ่ายโอนทรัพย์สินของชมรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและต้องรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ

  

ลักษณะที่  5     การประชุมใหญ่

หมวดที่ 1   การประชุมใหญ่


ข้อ 38     ให้มีการประชุมใหญ่สามัญตัวแทนสมาชิก  อำเภอละไม่น้อยกว่า  5  คน  อย่างน้อยปีละ  1  ครั้ง  ภายในเดือนมีนาคม  ของทุกปี 

ข้อ 39     คณะกรรมการอาจขอให้มีการประชุมวิสามัญตัวแทนสมาชิก อำเภอละไม่น้อยกว่า  5  คนได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร ,  ถ้าสมาชิกลงลายมือชื่อรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า  1 ใน  5  ของสมาชิกทั้งหมด อาจขอให้มีการประชุมวิสามัญได้โดยยื่นคำร้องต่อประธานชมรม  ให้ประธานชมรมจัดให้มีการประชุมภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับคำร้องนี้จากสมาชิก   

ข้อ 40     การประชุมใหญ่ตัวแทนสมาชิกอำเภอละไม่น้อยกว่า  5  คน  ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด  จึงจะครบองค์ประชุม 

ข้อ 41     ที่ประชุมใหญ่ตัวแทนสมาชิกอำเภอละไม่น้อยกว่า  5  คน  มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
ก.      พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรม
ข.      รับทราบการดำเนินกิจกรรมประจำปีของชมรม
ค.      ถอดถอนกรรมการชมรม  ทั้งนี้ต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า  2  ใน  3  ของสมาชิกที่มาประชุม


หมวดที่ 2   การประชุมกรรมการ


ข้อ 42     ให้คณะกรรมการมีการประชุมอย่างน้อย  3  เดือนต่อครั้ง

ข้อ 43     ในการประชุมกรรมการแต่ละครั้ง จะต้องมีคณะกรรมการมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม


หมวดที่ 3   การดำเนินการประชุม


ข้อ 44     ให้ประธานชมรมดำเนินการให้เป็นไปตามลักษณะที่ 5  การประชุมใหญ่  แห่งข้อบังคับนี้ 

ข้อ 45     ถ้าข้อบังคับนี้มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ให้ประธานชมรมแจ้งให้กรรมการชมรม หรือสมาชิกแล้วแต่กรณีได้ทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า  3  วัน  (กรณีเร่งด่วน)

ข้อ 46     ประธานชมรมเป็นประธานในที่ประชุม  ให้เลขานุการชมรมเป็นเลขานุการการประชุม  เว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในที่ประชุม ให้ถือเอาเสียงข้างมาก  กรณีมีเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด 



ลักษณะที่  6     การเลิกชมรม

หมวดที่ 1   เหตุแห่งการเลิกชมรม


ข้อ 47     ชมรมอาจเลิกดำเนินการ   เมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญมีมติให้เลิกดำเนินการ  แต่ต้องมีสมาชิกลงลายมือชื่อสนับสนุนรวมกันไม่น้อยกว่า  2  ใน  3  ของสมาชิกทั้งหมด


หมวดที่ 2   การจัดการทรัพย์สิน


ข้อ 48     เมื่อชมรมเลิกดำเนินการ  ให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน ดังนี้
ก.      ให้จำหน่ายทรัพย์สิน และชำระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด
ข.      ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ให้คืนแก่สมาชิก และหรือบริจาคเป็นสาธารณกุศล 



ลักษณะที่  7     บทสุดท้าย


ข้อ 49        การแก้ไขข้อบังคับนี้จะกระทำได้โดยมติคณะกรรมการมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า  3  ใน  4  ของคณะกรรมการทั้งหมด 

ข้อ 50        ให้ประธานชมรมเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ 



                                                                                       ประกาศ ณ วันที่  22  พฤศจิกายน  2554





                                                                                              (   นางพึงพิศ   สมนาวรรณ   )

                                                                        ประธานชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง

                                                                                                       จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น