วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ข้อกฎหมายกับคำพิพากษาศาลฎีกา


เนื่องจากบทความที่จะเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยฯ ผู้เขียนได้พยายามค้นหา พยายามคิดที่จะนำมาลงในระยะนี้ยังไม่มีเรื่องใดที่จะเพิ่มเติม  แต่ไม่อยากให้บล็อกฯ นิ่งอยู่เฉยๆ  เลยจะขอนอกเรื่องงานไกล่เกลี่ยฯ โดยจะนำข้อกฎหมายหรือคดีแปลกๆ หรือการเพลี่ยงพล้ำในทางคดีที่ผู้เขียนค้นพบจากห้องสมุดกฎหมายหรือจากหนังสือที่ผู้เขียนสะสมมาเล่าสู่กันฟัง โดยในบางเรื่องจะเป็นการบอกใบ้ว่า ชาวบ้านอย่างเราๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกฎหมายก็ย่อมมีความรู้สึกกลัวว่าจะใช้ข้อกฎหมายผิด แต่ก็ยังมีผู้ที่ใช้กฎหมายประจำทำคดีผิดเพี้ยนไป  ดังนั้นเราต้องอย่ามองตัวเราว่าใช้กฎหมายไม่เป็นนะครับ  ผู้เขียนมิได้เจตนาจะนำบทความหรือคดีใดๆ มาเพื่อตำหนิผู้เกี่ยวข้อง  เพียงแต่อยากให้ประชาชนอย่างเราๆ เข้าใจว่า เรายังมีศาลเป็นที่พึ่ง ที่จะให้ความยุติธรรมกับเราได้ครับ

เรามาทำความเข้าใจกับกระบวนการฟ้อง การพิจารณาคดี ไปจนถึงการพิเคราะห์ของศาลเพื่อที่จะลงโทษจำเลยในคดีอาญา ว่าจะลงโทษตามคำฟ้องได้เพียงใด โดยจะพยายามใช้ภาษากฎหมายที่อ่านง่าย เข้าใจง่ายนะครับ

คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยได้ขายเทปผีซีดีเถื่อน  เคยโดนจับส่งฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังมากระทำความผิดซ้ำอีก มีบทกฎหมายให้ลงโทษสองเท่าแก่ผู้ที่เคยได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วในความผิดที่ได้กระทำซ้ำยังไม่ครบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2545

ผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 และจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ลงโทษปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544  แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ก่อนที่จะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในคดีดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่ผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปีกลับมากระทำความผิดอีกตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้ได้  ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

........................................

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  มาตรา 73 บัญญัติว่า “ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษ เป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

จำเลยในคดีนี้ จึงโชคดีที่ไม่โดนโทษเบิ้ลเป็นสองเท่า แต่ก็เหมาะสมในฐานที่ได้ฝ่าฝืนกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ยังทำผิดอีก ไม่รู้ว่าในระหว่างขายอยู่นั้นจะไม่คิดเลยรึว่า มีสิทธิ์โดนจับอีก

คดีนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีก็ทราบดีว่าศาลไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าได้ เพราะในวันที่ถูกจับกุมในความผิดครั้งที่สองนั้น ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีความผิดที่ถูกจับกุมครั้งแรก แม้คดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม ก็มิอาจถือว่าจำเลยต้องระวางโทษ

ในการฟ้องคดีไม่ว่าจะโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือทนายความทั้งบิ๊กๆ หรือที่พึ่งได้ตั๋วทนายใหม่ๆ ในบางครั้งที่มีความเห็นในพฤติการณ์ที่ก้ำกึ่งกับข้อกฎหมาย ก็อาจบรรยายฟ้องเข้าไปโดยมีเจตนาเพื่อขอให้ศาลพิเคราะห์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่นักกฎหมายต่อไป มิได้เป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น