วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รายชื่อสมาชิกชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่

จำนวนสมาชิก ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ มีทั้งหมด ๓๖ ท่าน
ผู้เขียนพึ่งจะจัดส่งข้อบังคับและเอกสารรายงานการประชุมหรือเอกสารที่น่าสนใจใส่ซองใหญ่ไปให้
กรุณารอรับกันด้วยนะครับ 

นางพึงพิศ          สมนาวรรณ                     เมืองเชียงใหม่
นายประกิต        คำดวงดาว                       ดอยสะเก็ด
นายประกฤต      นามวงค์                           สารภี
นายทวี               วิวัฒนเจริญ                     สันกำแพง
นายเสงี่ยม          รัตนา                              แม่วาง
นายเทิดศักดิ์       วงศ์คำปัน                       ไชยปราการ
นายณรงค์           ปันดวง                           แม่ริม
นางสาวประไพรพิศ ติ๊บใจ                          ดอยเต่า
นางสาวสายทอง ใจแดง                             ดอยเต่า
นายวีระยุทธ      บูรณะประภา                    สารภี
นายบุญมี          เรือนชัย                            แม่แตง
นางสาวเพ็ญพันธ์   ธีระสวัสดิ์                     สันกำแพง
นางอรญา          รักษ์ขันติ                          สันทราย
นายอิ่นแก้ว        ท้าวบุญเรือง                    สันป่าตอง
นางวัลภา           ปานหมอก                       ฝาง
นางอภิญญา       สุนนท์ชัย                         แม่ริม
นายจำรัส            คำมูล                              แม่ริม
ด.ต.เมธา            นิลวิเศษ                           ดอยสะเก็ด
นางวรวรรณ        มหานันทโพธิ์                    เมืองเชียงใหม่
นางเพียรศรี         ประทุมทา                        ดอยหล่อ
นางธัญญารัตน์   จันทร์อารี                          ดอยหล่อ
นายเสน่ห์            เซมู                                  กัลยาณิวัฒนา
นายเจนวิทย์       แสงจันทร์                          ไชยปราการ
นายประสิทธิ์      ศรีโกสัย                             เมืองเชียงใหม่
นายสุทัศน์          จิตบาล                             สารภี
นายประสิทธิ์      กำแพงแก้ว                        แม่ริม
นายยุทธนา        วงศ์ฝั้น                              หางดง
นายปรียชาติ      พลอยสุข                           หางดง
นางศรีนวล         สุภาวัฒน์                          สารภี
นางสังคม           คุณรังสี                             สารภี
นางจันทร์เพ็ญ    ทองชาติ                            สารภี
นางเรือนคำ        อภิวงศ์                              สารภี
นายมงคล           ขุนปัญญา                        สารภี
นางเทิดขวัญ       คำเรือง                             สารภี
นางสาวอวัสดา    สังสีแก้ว                           หางดง
นายแสน              ธิเขียว                             หางดง

ทางชมรมฯ จะไม่บังคับให้ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ต้องเป็นสมาชิกชมรมฯ ถึงจะเข้ามีส่วนร่วมด้วยได้ ชมรมฯ จะไม่เลือกปฏิบัติครับ พวกเรามาด้วยจิตอาสา มิได้มีการแอบแฝงเข้ามาเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ กรรมการชมรมฯ ก็ต่างเข้ามาด้วยจิตอาสาเช่นกัน การเสียสละส่วนตัวก็ย่อมมีมาก่อนแล้ว สละทั้งกาย ทั้งใจ และทั้งทรัพย์สิน เพียงแต่จะสละมาก สละน้อยก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละท่าน กรรมการชมรมฯ หลายๆ ท่านได้ใช้เวลาติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อกิจกรรมชมรม บางท่านใช้เวลาส่วนตัว ส่วนของครอบครัวมาทำกิจกรรมเพื่อชมรมฯ จนถูกทางบ้านทักท้วงว่าให้พักผ่อนเสียบ้าง มีเวลาให้ครอบครัวบ้าง   ผู้เขียนก็เห็นว่ากรรมการท่านเหล่านั้นเหนื่อยกันมาก

สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยฯ บางท่านเห็นว่าผู้ที่เป็นกรรมการชมรมฯ จะต้องสละทรัพย์เพื่อบริหารชมรมฯ ได้โดยไม่จำกัดนั้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองมีความเห็นว่า ตัวผู้เขียนอาจสละหลายๆ อย่างเพื่อให้ชมรมฯ เดินหน้าไปได้ แต่จะให้สละทุกอย่างเพื่อชมรมฯ แล้ว ผู้เขียนคงจะทำไม่ได้ เพราะผู้เขียนมีความคิดส่วนตัวว่า ครอบครัวเราต้องมาก่อน สถาบันครอบครัวเราต้องยั่งยืนอย่างมีความสุข เมื่อเรามีความสุขกันพร้อมในครอบครัวแล้ว การที่เราจะแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่น นอกจากตัวเราจะเป็นผู้ให้แล้ว บุคคลในครอบครัวเราที่เข้าใจความ เป็นของตัวเราก็อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความสุขแก่ผู้อื่นด้วย มิใช่จากเราเพียงผู้เดียว เมื่อนั้นตัวเราก็จะมีพลังกาย พลังใจที่สามารถเข้ามาเสริมในกิจกรรมชมรมฯ ได้อย่างสบายใจที่สุด

สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยฯ บางท่านที่สงสัยว่า เงินค่าสมัครสมาชิกท่านละ ๒๐๐ บาทนี้ เอาไปทำอะไร ใครเก็บ ไว้ใจได้รึเปล่า

ผู้เขียนขอบอกว่า ผู้เขียนเป็นผู้จัดทำ จัดเตรียมเอกสาร จัดส่งหนังสือ และเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก จึงเป็นผู้เก็บรักษาเงินค่าสมาชิก เป็นผู้ใช้จ่ายเงินที่ส่วนใหญ่จะเป็นค่าถ่ายเอกสาร ค่าซอง ค่าแสตมป์ เป็นหลัก ค่าใช้จ่ายใดขอใบเสร็จได้ ก็จะนำมารวบรวมไว้ ไม่มีใบเสร็จก็จะจดไว้ หากจ่ายแล้วไม่จำไม่จด ก็ไม่ติดใจ ไม่คิดแม้ค่าใช้จ่ายยานพาหนะ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือกิจกรรมของชมรมฯ ที่ถามว่าแล้วไว้ใจได้รึเปล่านั้น ผู้เขียนขอตอบว่า ผู้เขียนไม่อาจจะยกหรือกล่าวอ้างข้อใดๆ มาเพื่อให้สมาชิกและผู้ไกล่เกลี่ยฯ เกิดความไว้วางใจผู้เขียนได้ ความซื่อสัตย์สุจริตไม่อาจมีใครรับรองให้ได้แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าไว้วางใจแก่กัน คือการให้เกียรติแก่กันและการให้เกียรติตนเอง มองกันในแง่ดีและมองจิตใจตนให้ดีตามไปด้วย แค่นี้ก็สามารถสร้างความสบายใจในการอยู่ร่วมกันได้แล้วครับ หากเรามัวคิดแต่ว่าคนใดไม่ซื่อสัตย์แล้ว เขาอาจไม่รับรู้ความคิดของเรา แต่ตัวเรานั่นเองที่จะไม่มีความสุข เพราะมัวแต่กังวลว่าผู้อื่นจะซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ กลายเป็นทุกข์แก่เราเอง

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อนุญาโตตุลาการ


อนุญาโตตุลาการ (arbitrator) คือ บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด


ประวัติ

การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเริ่มมีขึ้นมายาวนานตามวิวัฒนาการของกฎหมาย ดังหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดยในกฎหมายสิบสองโต๊ะได้บัญญัติให้มีคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในกฎหมายอังกฤษ

ความจำเป็นในการที่ต้องมีการควบคุมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้เริ่มขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยในประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดวิธีดำเนินงานของอนุญาโตตุลาการไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2240 ต่อมาใน พ.ศ. 2397 ได้มีการรวบรวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ มาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ และเมื่อจำนวนข้อพิพาททางแพ่งมากขึ้นตามพัฒนาการของกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐสภาอังกฤษจึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2432 มีเนื้อหาเป็นการประมวลหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตระลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตระลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล

ความหมาย

อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของกระบวนการระงับข้อพิพาทได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (conciliator) คือ บุคคลที่สามซึ่งคู่กรณีพิพาทตกลงกันให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความกัน โดยคู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายต่างยินยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตน และแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแทน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีหน้าที่เพียงไกล่เกลี่ยให้มีการประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีอำนาจบังคับหรือตัดสินการใด ๆ ในการเจรจานั้น แต่อาจเสนอแนวทางในการตกลงกันของคู่กรณีพิพาทได้

2. อนุญาโตตุลาการ (arbitrator) คือ บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจนสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้งคู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาทได้

3. ตุลาการ (justice) หรือผู้พิพากษา (judge) คือ ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติให้ชี้ขาดข้อพิพาทใด ๆ ด้วยการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีที่มาสู่ศาลในกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทกันได้ นอกจากนี้ ในกรณีพิพาทซึ่งไม่เป็นกรณีอันต้องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด และคู่ความได้ยื่นฟ้องศาลแล้ว ตุลาการหรือผู้พิพากษาอาจไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลหรืออาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาใช้บังคับก็ได้ ตามแต่เห็นสมควร

การอนุญาโตตุลาการ

การอนุญาโตตุลาการ (arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ"(arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกันและจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บุคคลภายนอกเข้ามาค้ำประกันหนี้ให้แก่คู่พิพาทที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย จะบังคับกันได้หรือไม่เพียงไร


          ในการไกล่เกลี่ยฯ ข้อพิพาททางแพ่ง เรื่องกู้ยืมเงิน  หากมีบุคคลภายนอกเข้ามาค้ำประกันลูกหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จะสามารถใช้บังคับกันได้หรือไม่อย่างไร 

กรณีสมมุติ

          นายแดง ทำสัญญากู้ยืมเงินนายดำเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ตกลงจะใช้คืนให้ภายใน ๖ เดือน แต่หลังจากครบกำหนด ๖ เดือนแล้ว นายแดงก็มิได้นำเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนนายดำแต่อย่างใด  นายดำจึงมายื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อให้ดำเนินการไกล่เกลี่ย นายแดงก็ยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ  มีคณะผู้ไกล่เกลี่ยครบถ้วน ครั้นเมื่อถึงวันนัดทำการไกล่เกลี่ย นายแดงบอกว่าตนมีอาชีพรับจ้าง ไม่มีเงินเป็นก้อนที่จะชำระในครั้งเดียวหมด  จะขอผ่อนชำระให้แก่นายดำเป็นเดือนๆ ละ ๒,๐๐๐  บาท  นายดำเห็นว่านายแดงมีอาชีพและรายได้ที่ไม่แน่นอน เกรงว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้มาทุกเดือน จึงบอกให้นายแดงไปหาคนที่น่าเชื่อถือมาค้ำประกัน ถึงจะยอมตกลง  การไกล่เกลี่ย จึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีกครั้ง  

เมื่อถึงกำหนด นายแดงได้นำนายเหลืองมาเพื่อให้นายเหลืองเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของตน คณะผู้ไกล่เกลี่ยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้น มีใจความว่า

นายแดงตกลงจะชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นายดำเป็นเงินจำนวน ๕๕,๐๐๐  บาท โดยจะผ่อนชำระให้เป็นรายเดือนๆ ละ ๒,๐๐๐  บาท เริ่มเดือนแรกวันที่    กรกฎาคม  ๒๕๕๕  และต่อไปทุกวันที่ ๕  ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบจำนวน  หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้นายดำขอศาลออกคำบังคับได้ทันที พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินต้นที่ค้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

อนึ่ง ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้  ได้มีนายเหลือง ขอเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของนายแดง โดยสัญญาว่า หากนายแดงผิดนัดชำระหนี้แก่นายดำ นายเหลืองขอรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายแดงทุกประการ  และการที่นายดำยินยอมผ่อนผันการชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่งแล้ว  ให้ถือว่านายเหลืองทราบและยินยอมในการผ่อนผันในครั้งๆ นั้นด้วย 

กรณีเช่นนี้  หากนายแดงได้ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ยอมผ่อนชำระตามที่ตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความแก่นายดำ  เมื่อนายดำไปทวงถามเอากับนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  นายเหลืองก็นิ่งเฉย  ทำไม่รู้ไม่ชี้และไม่ชำระหนี้แทนนายแดงตามที่ตนระบุในสัญญาค้ำประกัน  นายดำจึงไปยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อขอให้อัยการไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลออกคำบังคับไปยังนายแดง ให้ทำการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดภายใน  ๓๐  วัน  หากพ้นกำหนดนี้แล้วยังไม่ชำระ ก็จะดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีกับนายแดงและนายเหลืองต่อไป

สำหรับนายแดงน่ะ  สามารถออกคำบังคับได้แน่นอนอยู่แล้ว  แต่นายเหลืองล่ะ นายดำจะขอออกคำบังคับได้ด้วยหรือไม่ โดยอาศัยการที่นายเหลืองได้เข้ามาแสดงตนขอเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนายแดงต่อคณะผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างถูกต้องตามประกาศกฎกระทรวงฯ 

ผู้เขียนขอยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๔  มาเพื่อคุยหารือกันนะครับ

มาตรา ๒๗๔  ถ้าบุคคลใด  ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือประกันหรือโดยวิธีอื่น   เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หรือคำสั่ง หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่

ยกตัวอย่าง เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลให้มีการชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยไม่มีผู้ค้ำประกัน  จำเลยผู้กู้ก็อยากจะยอมความ อยากจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย  แต่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เห็นว่าจำเลยเป็นคนหลักลอย ทำงานมั่ง ไม่ทำมั่ง โจทก์ก็เลยอยากให้จำเลยหาบุคคลที่ฐานะดีกว่าจำเลยมาค้ำประกัน  จำเลยก็ได้ไปนำญาติของตนมาศาล  ขอเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยในสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำต่อศาลนี้

ตามความในมาตราที่ยกมาข้างต้น ยอมให้ทำได้ ยอมให้ญาติจำเลยเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โดยระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเลย   หากจำเลยผิดนัดชำระจนเป็นเหตุให้โจทก์ดำเนินการเพื่อยึดทรัพย์บังคับคดีกับจำเลยและญาติจำเลยคนนี้ได้โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องญาติจำเลยเป็นคดีขึ้นใหม่ แม้ในคำฟ้องเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ จะไม่ปรากฏมีญาติจำเลยคนนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมมาตั้งแต่แรกก็ตาม  เรียกว่ามีผลใช้บังคับกันได้เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน

ทีนี้ก็ขอวกกลับไปที่เรื่องหนี้ระหว่างนายแดงนายดำว่า จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๔  มาใช้บังคับกับนายเหลืองด้วยได้หรือไม่

สำหรับผู้เขียนเอง มีความเห็นว่า ในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งนี้  เป็นการที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและตามที่กำหนดไว้ในประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ซึ่งในประกาศฯ มิได้บอกให้นำเรื่องนั้น มาตรานี้  จากกฎหมายโน้นมาใช้โดยอนุโลม  การที่นายเหลืองเข้ามาค้ำประกันการชำระหนี้ของนายแดง ก็เป็นการเข้ามาค้ำประกันในที่ว่าการอำเภอ  ซึ่งที่ว่าการอำเภอมิใช่ศาลสถิตยุติธรรม   จึงไม่อาจที่จะนำมาตรา ๒๗๔ นี้ มาใช้กับกระบวนการไกล่เกลี่ยของอำเภอได้เลย

ดังนั้น หากนายดำจะบังคับเอาจากนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันนายแดงแล้ว  นายดำจะต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนั้นไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมเป็นคดีใหม่  เล่นกันอีกหลายเดือนเลยกว่าศาลจะมีคำพิพากษานายเหลืองน่ะ

ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อครั้งได้รับการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยตามบัญชีรายชื่อของอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ ต้นปี ๒๕๕๔  ผู้เขียนคิดแบบชาวบ้านว่า หากกำลังไกล่เกลี่ย แล้วอีกฝ่ายต้องการให้มีคนอื่นเข้ามาค้ำประกัน คนค้ำประกันจะลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่  แล้วจะบังคับกันอย่างไรได้หรือไม่  เพราะถ้าไม่มีใครมาค้ำประกัน การไกล่เกลี่ยก็อาจไม่ยุติได้ง่ายๆ  จึงได้สอบถามท่านวิทยากร(อีกแล้ว)ในเรื่องนี้ โดยถามเทียบว่าคนที่เข้ามาค้ำประกัน มิใช่คู่พิพาทมาแต่แรก  การเข้ามาค้ำประกันก็ทำที่อำเภอ มิใช่ทำในศาล จะเอามาตรา ๒๗๔ นี้ใช้ได้หรือไม่

ท่านวิทยากรตอบว่า ..ใช้ได้ เพราะเมื่อบุคคลภายนอกเข้ามาลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ถือได้ว่าเป็นคู่พิพาทแล้ว  ใช้บังคับได้แม้จะไม่ได้ทำกันในศาล ให้ใช้ไปก่อน  ปล่อยให้มีปัญหาเกิดขึ้น เดี๋ยวก็จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกันเอง....

ผู้ไกล่เกลี่ยที่เข้ารับการอบรมหลายๆ ท่านในห้องประชุมก็เห็นพ้องกันว่า  ..ได้  ได้  ได้อยู่แล้ว..

เมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกว่าได้  ได้  ผู้เขียนก็ต้องเงียบล่ะครับ  ต้องให้ความเคารพต่อวิทยากร เพราะหากไม่มีพวกท่าน พวกเราก็จะหาความรู้ในเรื่องไกล่เกลี่ยมิได้เลย  เรื่องที่ผู้เขียนสงสัยมีน้อยนิด แต่ได้เรื่องที่มีประโยชน์อย่างคณานับ เทียบกันไม่ได้ 

ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าเนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยตามประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ เป็นเรื่องใหม่ เป็นกฎหมายใหม่ๆ สดๆ ข้อบัญญัติก็มีไม่มากนัก  จะเน้นไปในทางที่ให้ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ดำเนินการระงับข้อพิพาทที่น่าจะคุยกันในระดับคนในชุมชนเดียวกันลงให้ได้โดยเร็ว ไม่ต้องเอะอะๆ ก็นำข้อพิพาทโต้แย้งกันไปฟ้องร้องต่อศาล  ทำให้มีคดีเล็กๆ น้อยๆ รกศาลมากมาย  ผู้เขียนก็เชื่อว่าโอกาสข้างหน้าที่การไกล่เกลี่ยจะเกิดปัญหาของในส่วนที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็จะต้องมีขึ้นแน่นอน และจะเป็นทางไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกฎกระทรวงฯ ที่ละฉบับๆ เช่นเดียวกับกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองทั้งหลายแหละครับ 

ผู้เขียนได้แอบภาวนาขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกฎกระทรวงฯ นี้ ให้ในชั้นบังคับคดีเอากับคู่พิพาทนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้แย่งกันขอเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีแทนคู่พิพาทฝ่ายที่ร้องขอ เช่น เงินวางประกันการยึดทรัพย์ เงินค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ 

ไหนๆ เมื่อประสงค์จะให้คู่พิพาทไม่ต้องไปฟ้องศาลเองให้เสียเงินค่าฤชาธรรมเนียม  ไม่ต้องเสียเงินค่าทนายความแล้ว  ก็ควรที่จะไม่ต้องให้เสียเงินค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีด้วยเลย น่าจะดีนะครับ   

ขอขอบพระคุณแทนชาวบ้านมาล่วงหน้าหลายๆ ปีเลยนะครับ








วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตารางเปรียบเทียบการระงับข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน กับผู้ไกล่เกลี่ยฯ



คณะกรรมการหมู่บ้าน
ผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง
การเสนอข้อพิพาท
แจ้งผู้ใหญ่บ้าน
ทำเป็นคำร้องยื่นต่อนายอำเภอ
ประเภทของข้อพิพาท
ความแพ่งหรือความผิดอาญาที่ยอมความได้
เฉพาะข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน, มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ระยะเวลาของการไกล่เกลี่ย
ไม่ได้กำหนดเวลา แต่ให้ดำเนินการโดยมิชักช้า เมื่อได้รับแจ้ง
- เมื่อได้รับคำร้อง  นายอำเภอแจ้งแก่คู่พิพาทอีกฝ่ายทราบเพื่อสอบถามความประสงค์
- หากฝ่ายนั้นยอมเข้าสู่การไกล่เกลี่ย นายอำเภอต้องมีหนังสือแจ้งทุกฝ่ายให้มาเลือกผู้ไกล่เกลี่ย
- เมื่อเลือกได้แล้ว ให้นัดผู้ไกล่เกลี่ยภายใน ๗ วัน เพื่อพิจารณาคำร้อง
- นายอำเภอส่งหนังสือนัดวันไกล่เกลี่ยภายใน ๗ วัน นับแต่วันพิจารณารับคำร้อง
- ต้องไกล่เกลี่ยให้เสร็จภายใน ๓ เดือน แต่หากจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกินครั้งละ ๓ เดือน  แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๑ ปี
การเชิญบุคคลอื่นมาให้คำปรึกษา
เชิญนายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายตำรวจหรืออัยการ มาให้คำปรึกษาได้
นำพยานบุคคลเข้าชี้แจงหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
สถานที่ไกล่เกลี่ย
ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร
ที่ว่าการอำเภอหรือสถานที่ราชการอื่นตามที่เห็น สมควร
อายุความ
การแจ้งฯ ไม่เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
อายุความในการฟ้องร้องคดีสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่ยื่นคำร้องหรือวันที่อำเภอได้รับหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ ถึงวันที่คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยฯ สั่งจำหน่ายข้อพิพาทหรือวันที่คู่พิพาททำสัญญาประนี ประนอมยอมความกันแล้วแต่กรณี
(แต่หากระหว่างการไกล่เกลี่ยฯ มีการบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยฯจำหน่ายคำร้อง และให้ถือว่าไม่เคยได้รับคำร้องมาแต่ต้น กรณีนี้ อายุความก็จะไม่เคยสะดุดหยุดลงมาแต่ต้นเช่นกัน)
ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
คู่พิพาทได้สิทธิตามสัญญาประนี ประนอมฯ นี้เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ผูกพันคู่พิพาททุกฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ  การจะบังคับตามสัญญาฯ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับอีกฝ่ายให้ปฏิบัติตามสัญญาประนี ประนอมยอมความที่ได้ทำไว้
คู่พิพาทได้สิทธิตามสัญญาประนี ประนอมฯ นี้ เทียบได้กับคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยศาล  หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ  อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลออกคำบังคับตามสัญญาฯ ได้เลย โดยมิต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล






























































            จะเห็นได้ว่า ในการระงับข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก  สะดวก รวดเร็ว  พิพาทกันที่หมู่บ้านไหน ก็แจ้งกับผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นหรือหมู่บ้านของอีกฝ่ายก็ได้  การติดต่อคณะกรรมการหมู่บ้านนั้นๆ ก็สะดวกเช่นกัน  เพราะหมู่บ้านเป็นชุมชนขนาดเล็ก  การประสานการติดต่อกันได้ในระยะเวลาไม่มาก  การเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทจึงสามารถกระทำได้ในเวลารวดเร็ว
          แต่ในการระงับข้อพิพาทโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง  มีขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน และเป็นหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทในชุมชนระดับอำเภอ ซึ่งกว้างขวางกว่าระดับหมู่บ้านหลายเท่า การประสานการติดต่อจึงจะใช้เวลามากกว่าระดับหมู่บ้าน   อีกทั้งหากการไกล่เกลี่ยยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ก็ยังสามารถที่จะขยายเวลาออกไปได้เรื่อยๆ  แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๑ ปี  หากจะทำแบบรวบรัด เข้าทางลัดเพื่อให้คู่พิพาทตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว  หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และเมื่อมีการตรวจกระบวนการพิจารณาตั้งแต่ยื่นคำร้องจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลเห็นว่ามิได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ เช่นอำเภอมิได้ส่งหนังสือแจ้งวันเวลา สถานที่นัดหมายการไกล่เกลี่ยฯ ให้แก่คณะผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาททุกฝ่ายทราบ  แต่ใช้วิธีโทรศัพท์หรือฝากบอกต่อๆ กันไป  คู่พิพาทฝ่ายที่ต้องรับผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้ถูกอัยการร้องขอให้ศาลออกคำบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม อาจนำความนี้ไปยื่นคำร้องต่อศาลและศาลอาจเห็นว่าสัญญาประนีประนอมกันที่ทำกันไว้นั้น มิได้ทำให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ จริง ศาลอาจยกคำร้องของอัยการได้   ความคิดตามวรรคนี้ ผู้เขียนได้ความคิดมาจากที่เคยได้รับฟังเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้าน(กองทุนเงินล้าน) แห่งหนึ่งว่า กองทุนนั้นได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาล  ในชั้นสืบพยานโจทก์ยื่นเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงินครบถ้วน  แต่เมื่อศาลถามโจทก์ว่าทางกองทุนได้ประชุมกรรมการและมีมติให้ฟ้องลูกหนี้รายนี้แล้วหรือยัง  โจทก์ตอบว่ายัง ศาลเลยยกฟ้องคดีนี้  จะเท็จจริงประการใด ผู้เขียนยังไม่ขอรับรอง เพราะไม่ได้ยินว่าฟ้องกันที่ศาลใด  แต่ก็เคยได้ยินจากอัยการที่ไปร่วมประชุมกับตัวแทนกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ได้บอกว่า หากกองทุนหมู่บ้านใดจะส่งลูกหนี้ให้อัยการฟ้องให้  จะต้องมีเอกสาร ฯ..........มติที่ประชุมกรรมการให้ฟ้องลูกหนี้ชื่อ............ ฯ   ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาอนุมานกับเรื่องการไกล่เกลี่ยฯ เพื่อให้เกิดความระมัดระวังและกังวลเล่นๆ ไปพลางๆ ก่อน
         


             แต่ถ้าหากพิจารณาถึงเจตนาของการออกประกาศกฎกระทรวงฯ นี้ ก็ด้วยมุ่งหวังที่จะให้ทางอำเภอร่วมกับคณะผู้ไกล่เกลี่ยฯ ร่วมกันหยุดยั้งการนำคดีความทั้งหลายให้ไม่ต้องไปถึงโรงถึงศาลแล้ว ศาลอาจมองได้ว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นนี้ ก็ด้วยการยินยอมพร้อมใจตกลงที่จะทำสัญญาให้มีผลผูกพันต่อกัน  จึงอาจสั่งอนุญาตตามคำร้องที่อัยการเสนอก็ได้  ทั้งนี้และทั้งนั้น คงจะต้องรอดูว่า ใครในประเทศไทยจะเป็นคนแรกที่ถูกอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับ แล้วเขาคนนั้นยกเหตุที่ผู้เขียนยกตัวอย่างขึ้นต่อสู้

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน กับโดยผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งฯ

           ผู้เขียนจะพยายามอธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียนให้เป็นภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ  จะเลี่ยงคำศัพท์กฎหมายที่ต้องตีความ แต่ก็จะต้องไม่ทำให้ภาษากฎหมายต้องเสียความหมายหรือด้อยลง    ดังนั้นข้อเขียนที่เนื้อหาเล็กๆ นี้อาจจะยืดยาว ต้องใช้เวลาอ่านนาน ผู้เขียนต้องขออภัยมาล่วงหน้าก่อนนะครับ  และสำหรับตัวบทกฎหมาย ประกาศกฎกระทรวงฯ ข้อบังคับฯ ใดๆ ที่ผู้เขียนกล่าวถึง ขอให้ท่านไปคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Link ที่มุมล่างขวามือของหน้าบล็อกนี้ที่ผู้เขียนได้โยงไว้ให้นะครับ

จากที่เราทราบกันมาแล้วว่า  การจะระงับข้อพิพาทในชุมชนเพื่อให้เกิดความสามัคคี ความสงบสุขแก่ชุมชนไม่ว่าจะระดับหมู่บ้านหรือระดับที่สูงกว่านี้ขึ้นไปนั้น  การไกล่เกลี่ยถือได้ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด  ซึ่งรัฐเองก็ได้มองเห็นความสำคัญนี้มานานแล้ว  จะเห็นได้ชัดเจนจากใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๗   ที่กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรม สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

การประนีประนอมข้อพิพาทในระดับชุมชนระดับหมู่บ้าน  ได้มีการบัญญัติเป็นข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี ๒๕๓๐  เป็นการเจตนาที่จะให้ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ทำการระงับข้อพิพาทที่ลูกบ้านในหมู่บ้านของตนเกิดข้อขัดแย้งโต้เถียงกัน  ซึ่งเมื่อลูกบ้านคู่พิพาทสามารถตกลงยุติการพิพาทกันได้แล้ว ต่างก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสงบสุข มีความเรียบร้อยในชุมชน แล้วยังจะเป็นการสร้างความสมานฉันท์แก่สังคมต่อไป  อันจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย


ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐ กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้าน(ดู พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๒๘ ตรี) ทำการประนีประนอมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านได้ ทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่งหรือความอาญาที่เป็นความรับผิดอันยอมความได้
 

ข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น มีตั้งแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ,  การผิดสัญญา ผิดข้อตกลงใดๆ ต่อกัน จนถึงการกระทำความผิดทางอาญา  หากเป็นความผิดทางอาญาที่ยอมความต่อกันได้ คณะกรรมการหมู่บ้านก็สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นๆ ได้ และหากคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ ก็ให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทขึ้นมา โดยให้คู่พิพาทต่างลงชื่อไว้ในบันทึกนี้

เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมข้อพิพาท  การจะบังคับให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นรับผิดตามสัญญาฯ  คู่พิพาทอีกฝ่ายก็จะต้องนำสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทนี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาฯ ต่อไป 

ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐  มาตรา ๑๔ ที่ให้เพิ่มความเป็นมาตรา ๖๑/๑  มาตรา ๖๑/๒  และมาตรา ๖๑/๓  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔   โดยที่มาตรา ๖๑/๒  มีสาระสำคัญกำหนดให้แต่ละอำเภอ มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทฯ  ซึ่งต่อมาก็ได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  และมาตรา ๖๑/๓  มีสาระสำคัญกำหนดให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งก็ได้ออกเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  

เจตนาในการออกกฎกระทรวงฯ ทั้งสองนี้  มุ่งหวังผลยิ่งเพื่อให้การที่ระงับข้อพิพาทให้สามารถยุติกันได้ในชุมชนและมีผลตามกฎหมายโดยมิต้องนำการผิดข้อตกลงไปกล่าวฟ้องร้องต่อศาลกันอีก อันจะทำให้เป็นคดีที่รกโรงรกศาลอีกด้วย

ในทางแพ่ง เมื่อคู่พิพาทตกลงกันได้และทำบันทึกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ทำให้ข้อเรียกร้องเดิมของคู่พิพาทได้ระงับสิ้นไปและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ  หากคู่พิพาทฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่พิพาทอีกฝ่ายก็สามารถนำความไปร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำบังคับแก่คู่พิพาทที่ผิดสัญญาได้เลยโดยไม่จำต้องนำไปฟ้องเป็นคดีใหม่

หรือในความผิดที่มีโทษทางอาญา(ที่ยอมความกันได้) เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาได้ยินยอมเป็นหนังสือตามที่ไกล่เกลี่ยและปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ยแล้ว ทำให้คดีอาญาที่พิพาทกันมาก่อนนั้นเป็นอันเลิกกันไปคือไม่อาจนำเรื่องที่พิพาทกันมานี้ไปฟ้องร้องต่อศาลได้

จะสังเกตได้ว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  และกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ทั้งสองฉบับนี้ น่าจะมีพื้นฐานมาจากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐  แต่ต้องการให้มีผลของกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แม้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น

                                                  ....................................... 



หมายเหตุ     เพื่ออ่านประกอบข้อเขียนนี้ 

คณะกรรมการหมู่บ้าน ตั้งขึ้นโดยอาศัย  พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๘ ตรี  และการที่คณะกรรมการหมู่บ้านจะปฏิบัติหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ นั้น  มีระเบียบให้ปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐ โดยขอยก พ.ร.บ.ฯ และข้อบังคับฯ ทั้งสองมาให้อ่านดังนี้นะครับ


พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗


มาตรา ๒๘ ตรี ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากผู้ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสิบคน

คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ
ให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน
ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรใดจะมีสิทธิเป็นกรรมการหมู่บ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

วิธีการเลือกและการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการปฏิบัติหน้าที่ การประชุม และการวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะกรรมการหมู่บ้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                     ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้กระทรวงมหาดไทยจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

.................................................................................................