วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เป็นที่ยืนยันแน่นอนชัดเจนแล้วครับ ว่า ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ทางแพ่ง ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่เข้าไปไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้


เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕  ผู้เขียนได้มีโอกาสพบท่านมนตรี   นามขาน  อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการสูงสุด งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่(สคช.)  ในวันที่ท่านได้ให้เกียรติไปบรรยายความรู้ทางกฎหมายเรื่องการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ที่โรงแรม เดอะ ปาร์ค   ผู้เขียนจึงได้เรียนถามท่านมนตรีถึงการที่ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ที่มีบัญชีรายชื่อประจำอำเภอ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ต่างเข้าใจว่ากฎกระทรวงได้ให้ผู้ไกล่เกลี่ยฯ สามารถเข้าทำการไกล่เกลี่ยความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาในส่วนของที่เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงขอปรึกษาเพื่อทำความเข้าใจให้แก่ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ด้วย 
ท่านมนตรีได้ชี้ให้เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๕๐ (ฉบับที่๗)  มาตรา ๑๔  ระบุมีใจความดังนี้

มาตรา ๑๔  ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา  ๖๑/๑  มาตรา  ๖๑/๒  และมาตรา  ๖๑/๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ.  ๒๕๓๔

มาตรา ๖๑/๑.......

มาตรา ๖๑/๒.......

มาตรา ๖๑/๓  บรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใดหากเป็นความผิดอันยอมความได้  และมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ  ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอม หรือแสดงความจำนง ให้นายอำเภอของอำเภอนั้นหรือปลัดอำเภอที่นายอำเภอดังกล่าวมอบหมายเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามควรแก่กรณี และเมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมเป็นหนังสือตามที่ไกล่เกลี่ยและปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ยดังกล่าวแล้ว  ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา....... 

และเมื่อได้มีออกกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓  ข้อ ๓ ได้กำหนดไว้ดังนี้

ข้อ ๓   บรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใด  ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมหรือแสดงความจำนงให้มีการไกล่เกลี่ย  ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอของอำเภอนั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแก่กรณี


จึงเห็นได้ว่าในกฎกระทรวงได้กำหนดให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้เท่านั้น  หาได้ให้ผู้ไกล่เกลี่ยฯ ทำหน้าที่นี้ได้ไม่ 

ส่วนผู้ที่สามารถทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้ นอกจากความผิดทางแพ่ง ด้วยการมีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ไว้ ก็จะมีผู้ประนีประนอมประจำศาล, พนักงานอัยการ, และคณะกรรมการหมู่บ้านหรือที่เรียกว่า กม. นั่นแหละ 
 

ชัดเจนแล้วนะครับ 
 

ท่านมนตรียังได้ให้ความเห็นอีกว่า เนื่องจากความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดที่ยอมความได้นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่มีผลทางด้านจิตใจของคนในชุมชนที่จะต้องรู้รับผิดรับชอบ การให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอที่นายอำเภอมอบหมายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครองมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรม สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในท้องที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย จะเป็นผลดีที่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาต่างได้รู้สึกว่าตนจะได้รับความยุติธรรมจากฝ่ายปกครองจนเป็นที่พอใจและทั้งสองฝ่ายจะยังไม่เสียความสัมพันธ์ที่มีต่อกันไปอีกด้วย

 ..............

อนึ่ง  ชมรมฯ ขอแจ้งว่าคุณพึงพิศ  สมนาวรรณ  ประธานชมรมฯ ได้นำหนังสือไปเรียนเชิญท่านมนตรี  นามขาน ท่านนี้มาเป็นที่ปรึกษาชมรมฯ ด้วยแล้ว  นับว่าเป็นเกียรติแก่ชมรมฯ อย่างยิ่ง ที่ได้นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทมาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย  ในนามของชมรมฯ และผู้มีจิตอาสา ขอขอบพระคุณท่านมนตรีมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น