วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ใครบ้างที่จะเป็นคู่พิพาทได้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓


          ที่ผู้เขียนขึ้นหัวข้อแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะชักชวนให้ใครต่อใครมาเป็นคู่พิพาททะเลาะเบาะแว้งกันแล้วมาคัดเลือกว่าใครที่จะเป็นคู่พิพาทตามความหมายของกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้นะครับ 

          ผู้เขียนเพียงจะสื่อความหมายให้เห็นถึงเจตนาของกฎกระทรวงฯ ในการที่จะระงับข้อพิพาท เพื่อให้ชุมชนยังคงความสามัคคี การเข้าใจซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขต่อไป   

          ผู้เขียนจะขอข้ามเรื่องสาเหตุของการพิพาทกันไปเลยนะครับ เพราะได้คุย ได้ทราบกันมาตั้งแต่ต้นๆ แล้ว  จึงจะข้ามไปตรงที่หากคณะผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว สัญญาฯ นี้มีผลใช้บังคับได้ทันที  ไม่ต้องนำเรื่องที่พิพาทนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลทำการพิจารณาคดี สืบพยานกันอีก  เพราะถ้าพิพาทกันแล้วนำเรื่องพิพาทไปฟ้องศาล  ศาลก็จะดำเนินการไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนศาล ซึ่งสามารถทำความตกลงกันได้ ทำสัญญาประนีประนอมกัน  แล้วจะเอาเรื่องพิพาทเหล่านี้ไปฟ้องเป็นคดีให้รกโรงรกศาลกันทำไม 

          คู่พิพาทตามความหมายของกฎกระทรวงฯ หมายถึงใครก็ตามที่มีข้อพิพาทกันด้วยเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน  มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  

           เกี่ยวกับที่ดิน  เช่น เพื่อนบ้านโต้แย้งแนวเขตที่ดิน ฯลฯ

           เกี่ยวกับมรดก  เช่น พี่น้องตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของพอแม่กันไม่ลงตัว ฯลฯ

          ข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท เช่น กู้ยืมเงินกัน ถึงกำหนดใช้แล้วชักดาบไม่ใช้คืน ฯลฯ

(ส่วนตรงประโยคที่ว่า หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เป็นการเผื่อไว้ในอนาคตที่อาจจะต้องแก้ไขเพิ่มทุนทรัพย์ให้สูงขึ้น รัฐบาลก็ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพิ่มทุนทรัพย์เป็นสามแสนสี่แสนได้เลย โดยไม่ต้องนำเข้าพิจารณาในสภาฯ) 

          กฎกระทรวงฯ มิได้กำหนดว่าคู่พิพาทต้องเป็นชาวบ้านในชุมชนหรือต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีกำหนดเงื่อนไขแต่เพียงว่าคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยฯ ยังนายอำเภอท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือนายอำเภอท้องที่ที่คู่พิพาทอีกฝ่ายมีภูมิลำเนาก็ได้ 

          ดังนั้น คู่พิพาทจึงอาจเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลใด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอที่ยื่นคำร้องก็ได้  ซึ่งกรณีข้อพิพาทกับนิติบุคคลส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาทั่วๆ ไป 

          นิติบุคคล คือบริษัท ห้างร้านที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจ  กระทรวงพาณิชย์ เช่น

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำกัดแก้วมาลูน  ขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งสดและผ่อน
บริษัท นิ่มแล้วเซ็ง จำกัด ให้กู้ยืมเงินโดยเอาทะเบียนรถยนต์มาวางไว้
บริษัท นิยมน่าคิด จำกัด ให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์  เป็นต้น 
นิติบุคคลเหล่านี้ก็สามารถที่จะเป็นคู่พิพาทฝ่ายผู้ร้องหรือฝ่ายผู้ถูกร้องก็ได้
 

          แต่ในการจะเป็นคู่พิพาทฝ่ายผู้ร้องหรือการรับเป็นคู่พิพาทฝ่ายผู้ถูกร้องของนิติบุคคลนั้น อาจจะต้องแสดงหนังสือรับรองนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจเพื่อแสดงตน ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ได้รับมอบหมาย(หรือพนักงานอัยการประจำจังหวัด) ได้ตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จะเป็นการเดินเข้าสู่ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป 

          หลังจากผู้เขียนได้ศึกษากฎกระทรวงฯ นี้ ผู้เขียนยังมองว่า หากนิติบุคคลทั้งหลายที่มีลูกหนี้ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท การจะไปยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาลแขวง นิติบุคคลจะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาล  1,000 บาท  ค่านำหมายเรียกจำเลย  ประมาณ 300 - 600 บาท และคดีต้องรอนัดพิจารณาไปอีก 2 – 3 เดือนอย่างเร็ว 

          แต่หากนิติบุคคลนั้นมายื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยฯ ยังนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอแล้ว  จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ   ทุกอย่างฟรีหมด  ยื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยฯ ฟรี   ส่งหนังสือเรียกลูกหนี้ให้มาที่อำเภอ ฟรี  หากต่างยินยอมเข้าสู่ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย  กระทั่งสามารถทำความเข้าใจในเรื่องที่พิพาท จนตกลงยินยอมทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว นิติบุคคลนั้นไม่ต้องเสียเงินสักบาท เพียงแต่การบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้จะแตกต่างกับทำที่ศาลนิดนึง ตรงที่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ย แม้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายจะลงชื่อรับข้อเงื่อนไขการยินยอมในวันนั้นแล้วก็ตาม  แต่หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามนั้น คู่พิพาทอีกฝ่ายจะต้องไปยื่นคำร้องต่ออัยการให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลออกคำบังคับไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล คู่พิพาทฝ่ายที่ยื่นคำร้องถึงจะขอศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อขอยึดทรัพย์ได้ 

          แต่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำที่ศาลที่ได้ฟ้องคดีกันนั้น ศาลจะให้คู่ความลงชื่อรับทราบคำบังคับในวันนั้นเลย หากคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ตามกำหนด  คู่ความอีกฝ่ายก็สามารถที่จะขอศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อทำการยึดทรัพย์ได้เลย  ไม่ต้องยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับอีกแล้ว 

            นิติบุคคลใด สนใจจะประหยัดเงินค่าฤชาธรรมเนียมศาล  ขอให้ไปติดต่อยื่นคำร้องยังนายอำเภอที่ท่านตั้งอยู่ทั่วประเทศได้เลย  ไม่ต้องเกรงใจว่าศาลจะขาดค่าฤชาธรรมเนียมเข้าศาล  เพราะท่านผู้พิพากษาที่ผู้เขียนเรียนปรึกษา ท่านบอกว่า ศาลไม่ต้องการให้มีคดีค้างการพิจารณามากกว่าการได้ค่าฤชาธรรมเนียม แถมบางคดีก็ฟ้องศาลโดยไม่จำเป็นอีกด้วย 

หมายเหตุ

คำบังคับ  คือคำพิพากษาย่อ ที่ศาลจะออกมาเพื่อแจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างไรบ้าง
 
หมายบังคับคดี  คือ หมายของศาลที่แจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของคู่ความที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น