วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฎีกาน่าสนใจ : ศาลยกฟ้องจำเลยที่เปิดเพลงลิขสิทธิ์ให้ลูกค้าในร้านฟัง


เป็นฎีกาเมื่อปี ๒๕๕๑  ศาลยกฟ้องมีใจความว่า การที่จำเลยเปิดแผ่นเพลงลิขสิทธิ์ให้ลูกค้าฟัง โดยที่จำเลยมิได้ทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด  จำเลยมิได้ทำ  "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า"  การกระทำของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31  แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้...........

คำพิพากษาศาลฎีกา : ฎีกาเลขที่ ๑๐๕๗๙/๒๕๕๑
ผู้พิพากษา : พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - บุญรอด ตันประเสริฐ
ผู้ย่อ : จุลเจษฎ์ ฉัตราคม

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงโสดทัศนวัสดุเพลง "ที่หนึ่งไม่ไหว" ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศ ไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ โดยนำเอาเพลง "ที่หนึ่งไม่ไหว" ที่มีผู้อื่น ทำซ้ำ โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในลักษณะแผ่นเอ็มพี 3 และชีดีเพลงเปิดให้ บริการลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านอาหาร "เจ้จิ๋ม จิ๋มจุ่ม" ของจำเลยได้ร้องและ ฟังเพลง "ที่หนึ่งไม่ไหว" อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าขายอาหาร และเครื่องดื่มของจำเลยโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเพลงดังกล่าวได้กระทำขึ้นโดยละเมิด ลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเครื่องเล่นวีซีดี จำนวน 1 เครื่อง และแผ่นซีดี จำนวน 1 แผ่น อันเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้เปิดเพลง "ที่หนึ่งไม่ไหว" บริการแก่ลูกค้าดังกล่าว เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 17, 31, 70, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
         จำเลยให้การรับสารภาพ
         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
         โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
         ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537  มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์.." ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็น การกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร” เท่านั้น แต่ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นปรากฏว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้า ในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง  "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ตามคำบรรยาย ฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้า ได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือ เรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 เพราะ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อ หากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  185 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
         พิพากษายืน
.............................

ยังมีพ่อค้าแม่ขายอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าการเปิดเพลงในร้านค้าให้ลูกค้าฟัง หากเข้าองค์ประกอบตามฎีกานี้ ก็ไม่เป็นความผิด แม้จะสารภาพ(เพราะถูกบังคับขู่เข็ญก็ตาม.....)   ขอให้ช่วยกันทำการบอกกล่าวเผยแพร่ฎีกานี้ให้แก่พรรคพวกหรือเพื่อกุศลแก่เหล่าร้านค้าฯ ด้วยนะครับ  มิเช่นนั้นคนค้าขายที่ชอบฟังเพลงก็ยังจะต้องถูกรีดไถไปอย่างไม่รู้จบ  พกคำพิพากษาฎีกานี้ไว้ในร้านเลย   หากมีกลุ่มนักบินเข้ามาขอตรวจค้นหรือเพื่อจะจับกุม หรือเพื่อการตีกิน  นอกจากเราควรจะถ่ายคลิปบุคคลเหล่านั้นไว้แล้ว  เรายังสามารถนำคำพิพากษาฎีกานี้ให้พวกที่อ้างตนเข้ามาค้นให้อ่านเสียด้วย   เขาอาจบอกว่า นั่นมันเรื่องของการต่อสู้ในชั้นศาล ให้เราไปต่อสู้เองที่ศาล  แต่คำพิพากษาฎีกาเป็นเสมือนบรรทัดฐานของคดีที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน  ซึ่งพวกเขาอ่านแล้วอาจจะแกล้งโง่ รักษาเหลี่ยมด้วยการบอกลดราคาลงเหลือตั๋วเด็ก คือขอรับทรัพย์จากเราครึ่งราคา ก็อย่ายอมนะครับ  จดบันทึกชื่อเสียงเรียงนาม แล้วไปแจ้งความได้เลย
            ทราบว่าที่เชียงใหม่ มีนักกฎหมายจิตอาสา ได้ทำการประชาสัมพันธ์ฎีกานี้อยู่ และกำลังออกตามเช็ดพวกนักบินที่เป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งอยู่ครับ  ชื่อ-สังกัด เขามีไว้หมดแล้ว  เหล่านักบินคงจะโฉบทรัพย์ยากขึ้นครับ

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สรุปการเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท อำเภอดอยสะเก็ด



รายงานการเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ของคณะกรรมการชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่  ๑๐  กรกฎาคม  ๒๕๕๖

            คณะกรรมการชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนางพึงพิศ สมนาวรรณ  ประธานชมรมฯ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท อำเภอดอยสะเก็ด  ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด  โดยมีเจ้าพนักงานปกครองจากที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ร่วมเดินทางไปด้วย ส่วนที่อำเภอดอยสะเก็ดเนื่องจากท่านนายอำเภอและปลัด อำเภออาวุโส ติดประชุมด่วน จึงมอบหมายให้นางนิ่มนภา  แสนเมืองมูล  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ พร้อมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยผู้มีบัญชีรายชื่อของอำเภอดอยสะเก็ด ให้การต้อนรับและร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน
                       
คณะกรรมการชมรมผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งจังหวัดเชียงใหม่           
นางพึงพิศ       สมนาวรรณ         อำเภอเมืองเชียงใหม่       ๐๘๑-๘๘๒๕๘๗๓
นายประสิทธิ์    ศรีโกไสย             อำเภอเมืองเชียงใหม่       ๐๘๒-๑๘๘๑๑๔๔
นายกิติศักดิ์     จักราชย์               อำเภอเมืองเชียงใหม่       ๐๘๑-๙๖๑๙๙๐๗                                 
นายวีระยุทธ    บูรณะประภา        อำเภอสารภี                   ๐๘๑-๙๕๑๒๖๗๔
นายทวี           วิวัฒนเจริญ          อำเภอสันกำแพง             ๐๘๙-๕๖๐๙๓๖๐

ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด
นายประเสริฐ  ปัญญากาศ           ๐๘๖-๙๒๑๓๕๕๗
นายชูศักดิ์      บุญทรัพย์อุดม       ๐๘๕-๐๓๘๘๓๙๙
นายสมาน      โพธิยา                  ๐๘๒-๑๙๕๓๓๐๔
นางดาวเรือง   ธาตุอินจันทร์         ๐๘๑-๑๗๙๓๗๕๗
นายประกฤต   คำดวงดาว           ๐๘๙-๙๕๐๑๒๑๒
ด.ต.นเรศ       กาวี                      ๐๘๗-๗๘๙๕๔๕๓
ด.ต.เมธา        นิลวิเศษ               ๐๘๐-๔๙๘๘๐๒๓
นายดวงดี       สมสวย                 ๐๘๘-๔๐๘๔๕๗๔

ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอสันป่าตอง
นายไพศาล    ภิโลคำ                  ๐๘๑-๗๘๓๔๗๐๓

ที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด
นางนิ่มนภา   แสนเมืองมูล     เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ    ๐๘๕-๐๓๙๓๘๖๖

ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่
นายถนอม    กุยแก้ว            เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ  ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกฎหมายฯ    ๐๘๙-๒๖๒๖๖๓๖
นายธีทัต      ประกอบเที่ยง    นิติกรชำนาญการ    ๐๘๑-๗๘๕๖๐๐๘
นายอำนาจ   มหายนต์          เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ    ๐๘๖-๑๙๒๙๑๔๔     

เอกสารระหว่างประชุมปรึกษา             
-     รายงานการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๖  วันที่  ๒๘  พฤษภาคม  ๒๕๕๖

เริ่มประชุมปรึกษาเวลา  ๑๐.๐๐  นาฬิกา
นางนิ่มนภา  แสนเมืองมูล  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ กล่าวเปิดการประชุมฯ  ต้อนรับคณะกรรมการชมรมฯ และผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด  แจ้งว่าเนื่องด้วย ว่าที่ ร.ต.สมัย คำชมภู นายอำเภอดอยสะเก็ด และปลัดอำเภออาวุโสติดประชุมด่วน ไม่อาจมาร่วมในการประชุมฯ ครั้งนี้ได้ จึงได้มอบหมายในนางนิ่มนภาฯ เป็นตัวแทนมาต้อนรับและร่วมประชุมปรึกษา ซึ่งเมื่อทางอำเภอได้รับหนังสือแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ก็ได้ทำหนังสือแจ้งต่อไปยังผู้มีบัญรายชื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของอำเภอดอยสะเก็ดทั้ง ๒๕ ท่านแล้ว  นางนิ่มนภาฯ กล่าวว่าพึ่งย้ายมาจากอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และได้รับมอบหมายให้ดูแลงานอำนวยความยุติธรรม การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทนี้ด้วย  จะทำการสนับสนุนงานด้านไกล่เกลี่ยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกรมการปกครองต่อไป
ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมปรึกษาได้แนะนำตัวให้ที่ประชุมได้รู้จักกันทุกท่านด้วย

นางพึงพิศ  สมนาวรรณ  ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอเมืองเชียงใหม่ ประธานชมรมฯ ได้กล่าวขอบคุณแก่ทุกท่านที่ให้การต้อนรับและเข้าร่วมการประชุมปรึกษาในครั้งนี้  ชมรมฯ เดินทางมาเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยของอำเภอดอยสะเก็ดเป็นแห่งแรกตั้งแต่ตั้งชมรมฯ ขึ้นมา  เจตนาของชมรมฯ ที่มาเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ นี้ ก็ด้วยประสงค์จะปรึกษาหารือกับทางอำเภอและผู้ไกล่เกลี่ยว่าการปฏิบัติงานไกล่เกลี่ยที่ผ่านมา มีปัญหาหรืออุปสรรคในการปฏิบัติงานอย่างไรและมีผลเป็นอย่างไรบ้าง  ต้องการให้ทางชมรมฯ ช่วยเหลืออย่างไร  ซึ่งขณะนี้ชมรมฯ ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนชมรมฯ ต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่แล้ว  เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงฯ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ทางชมรมฯ ก็สามารถขอรับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานอื่น เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของผู้ไกล่เกลี่ยจังหวัดเชียงใหม่และการให้ความรู้ในการระงับข้อพิพาทในชุมชน  สำหรับวันนี้ทางชมรมฯ ได้ทำแผ่นปลิวสำหรับแนะนำการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของอำเภอมามอบให้แก่นายประกฤต  คำดวงดาว ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ดเพื่อแจกจ่ายประชาสัมพันธ์จำนวน ๑๐๐ แผ่น

นายประกฤต  คำดวงดาว  ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด รองประธานชมรมฯ  กล่าวว่าในส่วนของผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด ที่ผ่านมายังมิได้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย คงเนื่องด้วยไม่มีผู้มายื่นคำร้องต่อนายอำเภอ ผู้ไกล่เกลี่ยเมื่อได้รับการเสนอชื่อขึ้นบัญชีแล้ว ก็อยากที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยด้วยการมีจิตอาสา อยากช่วยเหลือชุมชน อยากได้ความเข้าใจในขั้นตอนการยื่นคำร้อง แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของอำเภอท่านใดที่จะให้ความกระจ่างได้  ทราบว่าบางอำเภอมีปัญหางานไกล่เกลี่ยด้วยอ้างว่างบประมาณของเงินค่าตอบแทนหมด จึงไม่รับคำร้องไกล่เกลี่ย  แต่บางอำเภอขอเบิกเงินค่าตอบแทนต่อเดือนสูงมาก บางอำเภอก็ไม่มีการตั้งเบิก  จึงขอถามทางจังหวัดว่าในการจัดการเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้ไกล่เกลี่ยนั้น มีหลักการอย่างไรบ้าง
   
นายถนอม  กุยแก้ว  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ  หัวหน้านิติกร ที่ทำการปกครองจังหวัดฯ  กล่าวว่าในการจะไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทนั้น มีอยู่หลายช่องทางที่ประชาชนในชุมชนจะเลือกใช้ ตั้งแต่การขอให้คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า กม. ดำเนินการไกล่เกลี่ย, ศูนย์ไกล่เกลี่ยของเทศบาลต่างๆ, ยุติธรรมชุมชน, ศูนย์อำนวยความเป็นธรรมอำเภอ หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ที่ตั้งขึ้นตามกฎกระทรวงโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่มีบัญชีรายชื่อของแต่ละอำเภอทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ซึ่งกำหนดให้แต่ละอำเภอต้องมีไม่ต่ำกว่า ๒๐ ท่านนี้  ซึ่งขึ้นอยู่กับคู่พิพาทว่าจะเลือกเข้าช่องทางใด  ทุกชุมชนย่อมต้องมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้น จะแตกต่างที่ความมากน้อย และคู่พิพาทประสงค์จะระงับข้อพิพาทกันอย่างไร  บางรายก็อาจตรงไปใช้กระบวนการทางศาลยุติธรรมโดยตรงเลยก็มี การที่ผู้ไกล่เกลี่ยบางอำเภอยังมิได้ทำหน้าที่ก็อาจจะด้วยการที่คู่พิพาทเลือกช่องทางอื่นกันเองก็เป็นได้   ส่วนในเรื่องของเงินค่าตอบแทนนั้น จังหวัดได้จัดสรรงบประมาณเบื้องต้นเฉลี่ยอำเภอละ ๓๐,๐๐๐  บาท  จังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด ๒๕ อำเภอ แต่ที่มีการตั้งเบิกเงินค่าตอบแทนเข้ามายังจังหวัดเพียง ๖ อำเภอเท่านั้น การเบิกจ่ายค่าตอบแทนก็มิได้จำกัดอำเภอละ ๓๐,๐๐๐ บาท  อำเภอใดมีเรื่องไกล่เกลี่ยมากน้อย ก็จะใช้วงเงินรวมมาจัดสรรเบิกจ่ายให้ไปตามลำดับ  แต่หากมีเงินค่าตอบแทนเหลือจากการตั้งเบิกจ่าย ก็ต้องส่งคืนกรมการปกครองทุกปี  สำหรับการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามบัญชีรายชื่อนี้จะไม่มีวาระ คือเป็นไปตลอด เว้นแต่จะตาย, ลาออก, นายอำเภอสั่งให้พ้นจากบัญชีรายชื่อ, ไม่เข้าไกล่เกลี่ยเกินสองครั้งติดต่อกันหรือถูกถอดถอน เท่านั้น

นายชูศักดิ์  บุญทรัพย์อุดม   ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด  แสดงความเห็นว่ารายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยที่ปรากฏในแผ่นปลิวที่ชมรมฯ ทำมาให้นี้ มีหลายคนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว  คือบางคนได้ขอลาออก  บางคนได้สมัครและรับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  และมีความเห็นว่าเรื่องของการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ตามกฎกระทรวงนี้ แทบจะไม่เป็นที่รู้แก่ชุมชนเลย อยากให้ทางอำเภอดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้แก่ชุมชนอย่างทั่วถึงด้วย อาจจะด้วยการให้เทศบาลประกาศเสียงตามสาย หรือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านป่าวประกาศให้แก่ลูกบ้านทราบ  พร้อมทั้งเสนอว่ากรณีที่คู่พิพาทเป็นคนตำบลใด อยากจะให้ผู้ไกล่เกลี่ยที่มีภูมิลำเนาในตำบลนั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งหากพิจารณาจากกฎกระทรวงแล้ว ขั้นตอนตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ย ออกหนังสือแจ้งคู่พิพาทให้ตอบรับ-ปฏิเสธการเข้าสู่การไกล่เกลี่ย การเลือกผู้ไกล่เกลี่ยของแต่ละฝ่าย  การพิจาณาคำร้องฯ ไปจนกว่าจะถึงวันนัดไกล่เกลี่ย ใช้เวลามาก อาจทำให้คู่พิพาทมีการลังเลหรือเปลี่ยนใจได้ จึงอยากให้มีการลดขั้นตอนต่างๆ ให้ใช้เวลาน้อยลงด้วย

นางนิ่มนภาฯ กล่าวว่าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยจะมีรูปของผู้ไกล่เกลี่ยทั้ง ๒๕ คนแสดงไว้ให้คู่พิพาทเป็นผู้แสดงความประสงค์ว่าจะเลือกคนใดมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายตนด้วยตัวเอง  ซึ่งเป็นไปตามที่ประกาศไว้ในกฎกระทรวง  เป็นอิสระของคู่พิพาทที่ประสงค์จะเลือกผู้ใดเป็นผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายตน  ส่วนการที่จะทำให้การไกล่เกลี่ยมีการกระชับเวลาให้มีความสะดวก รวดเร็วนั้น นางนิ่มนภาฯ จะพยายามดำเนินการให้ แต่ทั้งนี้ผู้ไกล่เกลี่ยทุกท่านก็ต้องมีความพร้อมที่จะเข้าทำหน้าที่เพื่อให้รวดเร็วและทันต่อเวลาด้วยเช่นกัน  และในการที่คณะกรรมการชมรมฯ จะมาเยี่ยมศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ในวันนี้ ทางอำเภอก็ได้ออกหนังสือเชิญแจ้งไปยังผู้ไกล่เกลี่ยทั้ง ๒๕ ท่านแล้ว แต่ก็มีมาร่วมการประชุมปรึกษากันวันนี้เพียง ๘ ท่าน ซึ่งคงจะต้องติดตามว่า ท่านที่มิได้มา เกิดจากการไม่ได้รับหนังสือ หรือทราบว่าตนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยไปแล้ว หรือลาออกจากการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ทางอำเภอก็จะได้ทำการตรวจสอบให้ชัดเจน หากจำนวนผู้ไกล่เกลี่ยที่ยังมีคุณสมบัติครบมีจำนวนไม่ถึง ๒๐ คน ทางนายอำเภอก็จะต้องทำการประกาศรับสมัครเพื่อคัดเลือกเพิ่มเติมและเสนอรายชื่อพร้อมใบสมัครไปยังจังหวัดเพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามบัญชีรายชื่อทดแทนต่อไป

นายวีระยุทธ  บูรณะประภา  ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอสารภี เลขานุการชมรมฯ กล่าวว่าสำหรับรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ดที่ระบุไว้ในแผ่นปลิวนี้ ได้คัดลอกมาจากบัญชีรายชื่อที่จังหวัดได้ประกาศไว้ตั้งแต่แรก แม้ขณะนี้จะมีหลายท่านที่ขาดคุณสมบัติแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่นายอำเภอยังไม่สั่งให้พ้นจากบัญชีรายชื่อ ก็ยังคงถือว่าผู้นั้นยังมีชื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอยู่  ซึ่งกรณีที่ผู้ไกล่เกลี่ยขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามนี้ มีเกิดขึ้นหลายอำเภอ แม้ที่อำเภอสารภีเองก็มีที่ไปลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหลายคน ก็มีการแจ้งด้วยวาจาให้ทางอำเภอทราบแล้ว  ส่วนการจะดำเนินการคัดชื่อออกนั้น คงให้เป็นขั้นตอนของนายอำเภอที่จะดำเนินการต่อไป  แต่หากจะให้ผู้ไกล่เกลี่ยทำหนังสือแจ้งพร้อมระบุการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของผู้ไกล่เกลี่ยแก่อำเภอนั้น เห็นว่าอาจไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้ผู้ไกล่เกลี่ยที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเข้าใจผู้แจ้งผิด หรือการที่ผู้ที่ขาดคุณสมบัติไม่แจ้งแก่อำเภอเองว่าตนขาดคุณสมบัติแล้ว อาจจะด้วยประสงค์จะใช้การได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยไว้ประกอบสถานะของตนต่อไปก็เป็นได้  จึงอยากให้เป็นหน้าที่ของอำเภอที่จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ย  และขอสอบถามยังจังหวัดว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้ไปติดต่อยื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านที่ผิดนัดชำระหนี้มาเป็นเวลากว่า ๔-๕ ปี จำนวน ๖ ราย ณ ศูนย์อำนวยความเป็นธรรม อำเภอสารภี โดยมีปลัดอำเภอท่านหนึ่งเป็นผู้รับเรื่อง  ซึ่งปลัดอำเภอท่านนี้ได้บอกว่าในกรณีที่ลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านผิดนัดชำระหนี้ ก่อนจะดำเนินการ ทางกองทุนหมู่บ้านฯ จะต้องแจ้งแก่กรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอและพัฒนาชุมชนก่อน ถึงจะดำเนินการได้และการจะดำเนินการทางกฎหมายนั้นจะต้องส่งให้กรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทครั้งหนึ่งก่อน เพื่อให้กรรมการหมู่บ้านมีผลงานในการระงับข้อพิพาทด้วย เมื่อมีการผิดนัดอีกจึงค่อยมายื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ย เว้นแต่ข้อพิพาทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านถึงจะสามารถมายื่นคำร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้เลย  อีกทั้งงบประมาณที่จะเป็นเงินค่าตอบแทนแก่ผู้ไกล่เกลี่ยได้หมดลงแล้ว โดยจังหวัดให้เฉลี่ยรับเรื่องการไกล่เกลี่ยอำเภอละ ๑๐ เรื่องต่อปี นายวีระยุทธฯ เห็นว่าคำชี้แจงต่างๆ ของปลัดอำเภอท่านนี้ ไม่ตรงประเด็นและข้อเท็จจริง  ดังนั้นงานด้านการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งของอำเภอสารภีที่ได้เคยดำเนินการมาด้วยดีกับปลัดอำเภอคนเก่า อาจต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายปกครองของอำเภอในปัจจุบันกันใหม่อีก  จึงขอทราบแนวทางเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วย

นายธีทัต  ประกอบเที่ยง  นิติกรชำนาญการ  ให้ความเห็นว่า ในการที่จะให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทนั้น มีหลายช่องทางตามที่นายถนอม  กุยแก้ว แจ้งไว้แต่แรก  ผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องก็สามารถเลือกได้ว่าตนประสงค์ที่จะให้มีการไกล่เกลี่ยในช่องทางใดที่สะดวกและเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า  และหากข้อพิพาทนั้นๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว หน่วยงานนั้นก็สามารถที่จะรับเอาข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้เพราะเป็นงานบริการแก่ประชาชน ไม่ควรที่จะปฏิเสธหรือแนะนำให้ไปติดต่อที่ช่องทางอื่นอีก ส่วนการรับคำร้องเข้ามาไกล่เกลี่ยนั้น ทางจังหวัดมิได้กำหนดหรือจำกัดจำนวนเรื่องไว้  คู่พิพาททุกเรื่องที่หากข้อพิพาทอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว สามารถยื่นคำร้องต่อนายอำเภอนั้นๆ ได้ตลอดปี เพราะการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทเป็นหนทางหนึ่งที่จะคัดกรองมิให้ต้องนำเรื่องพิพาทไปเป็นคดีรกโรงรกศาล  และเรื่องของงบประมาณค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยนั้น ก็มิได้หมดแล้วแต่อย่างใด 

นายเมธา  ปัญญากาศ  ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ด ให้ความคิดเห็นของสังคมในปัจจุบันว่า ปัจจุบันได้เกิดความแตกแยกกันอย่างมาก แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า มีความเหลี่ยมล้ำต่ำสูงในฐานะทางเศรษฐกิจ  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ถูกบุกรุกถูกทำลาย  ประชาชนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  ต่างก็จะเอาแต่ได้ เอาประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม  อยากให้ทางราชการเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย  ส่วนในเรื่องของการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทนั้น นายเมธาฯ ก็เป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน มีความเห็นว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ระงับข้อพิพาทในแต่ละพื้นที่มีหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยมีคำแนะนำว่าเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ให้ส่งเรื่องเข้าหาผู้ใหญ่บ้านในระดับกรรมการหมู่บ้าน หากไม่ยุติก็ให้ส่งไปที่กำนัน และศูนย์อำนวยความเป็นธรรมที่อำเภอ ตามลำดับ  แล้วยังมีระดับ อบต., เทศบาล, ยุติธรรมชุมชน แล้วปัจจุบันมีศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งนี้อีก เป็นการมีหน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนกัน  อยากให้หน่วยงานเหล่านี้มาร่วมกันวางแผนในการดำเนินงานให้ชัดเจน คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม 

นายไพศาล  ภิโลคำ   ผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอสันป่าตอง  กล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับชมรมฯ ที่จัดตั้งขึ้นนี้ เมื่อได้รับอนุมัติในการจดทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ในการจะร่วมทำประโยชน์กับสังคม เห็นว่าอาจทำโครงการเสนอต่อมูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี เพื่อขอรับทุนสนับสนุนชมรมฯ ที่จะนำไปพัฒนาฯ ตามวัตถุประสงค์ของชมรมฯ ต่อไปได้

นายถนอม  กุยแก้ว  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการฯ  กล่าวว่าปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ ทุกหน่วยงานของรัฐก็พยายามที่จะเข้ามาแก้ไขให้ดีขึ้น ในส่วนของเงินค่าตอบแทนที่อาจเหลือจากการตั้งเบิกจ่ายในปีนี้ นายถนอมจะได้ปรึกษากับทางจังหวัดว่าจะดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ได้อย่างไรบ้าง  พร้อมทั้งยืนยันอีกครั้งว่าจังหวัดไม่ได้กำหนดปริมาณของเรื่องไกล่เกลี่ยแต่อย่างใด  ผู้ไกล่เกลี่ยทุกท่านเมื่อได้รับการเลือกเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาทใดแล้ว ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ข้อพิพาทนั้นๆ ยุติลงได้ เพื่อความสงบสุขของชุมชน ของส่วนรวม , สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยที่ปัจจุบันขาดคุณสมบัติแล้วนั้น ขอให้ประสานกับทางอำเภอเพื่อความชัดเจนและจะได้คัดชื่อออก ซึ่งหากอำเภอใดมีจำนวนผู้ไกล่เกลี่ยที่ไม่ขาดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔  ของกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ ไม่ถึง ๒๐ คนแล้ว นายอำเภอนั้นๆ ก็จะต้องประกาศรับสมัครผู้ไกล่เกลี่ยแล้วส่งรายชื่อพร้อมประวัติแก่คณะกรมการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ได้จำนวนผู้ไกล่เกลี่ยไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ซึ่งก็มิได้จำกัดจำนวนขั้นสูงไว้แต่อย่างใด เช่น อำเภอหางดงมีบัญชีรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยทั้งสิ้นจำนวนถึง ๓๕ ท่าน  เป็นต้น  

นายถนอมฯ  มีความเห็นว่า ในการที่ผู้ไกล่เกลี่ยได้มีการประชุม นำปัญหา นำอุปสรรคมาปรึกษาหารือเช่นครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่จังหวัดก็จะได้รับทราบและทำการแก้ไข ปรับปรุงในส่วนที่สามารถทำได้ต่อไป  แต่ในส่วนที่เป็นข้อกฎหมายหรือระเบียบข้อกำหนดซึ่งไม่อาจแก้ไขได้โดยลำพัง ก็จะได้นำเสนอไปยังกรมการปกครองเพื่อพิจารณาต่อไ

นางนิ่มนภา  แสนเมืองมูล  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ  กล่าวขอบคุณเจ้าพนักงานปกครองที่มาจากที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการชมรมฯ ตลอดจนผู้ไกล่เกลี่ยอำเภอดอยสะเก็ดทุกท่านที่ให้ความสำคัญเข้ามาประชุมปรึกษากันในวันนี้


ปิดการประชุมปรึกษาเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา

                                                                                                  
ลงชื่อ         พึงพิศ  สมนาวรรณ
          (   นางพึงพิศ   สมนาวรรณ   )
                    ประธานชมรมฯ
                 ๐๘๑-๘๘๒๕๘๗๓

ลงชื่อ           วีระยุทธ  บูรณะประภา
                      ผู้บันทึกการประชุม
              ( นายวีระยุทธ   บูรณะประภา )
                       เลขานุการชมรมฯ
                      ๐๘๑-๙๕๑๒๖๗๔
                wb-lawyer@hotmail.com