วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ให้เช่าห้องแล้วต่อมาคนเช่าไม่จ่ายค่าเช่า เจ้าของบ้านจะไปงัดกุญแจขนของออกมาได้หรือไม่


         นายไก่เจ้าของบ้าน ได้ให้นายไข่เช่าห้อง  ต่อมานายไข่ไม่ชำระค่าเช่า  ทวงถามอย่างไรก็ไม่ยอมจ่าย นายไก่จึงนำกุญแจเปลี่ยนใส่ห้องพิพาทแทนกุญแจของนายไข่ และเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินในห้องพิพาทออกไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ ทั้งนี้นายไก่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นพยานในการขนย้ายทรัพย์สินด้วยจำนวน 3 นาย  นายไข่จึงแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี  ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลลงโทษนายไก่และเจ้าพนักงานตำรวจฐานร่วมกันบุกรุก  ตาม ป.อาญา มาตรา 362,  362(2)

         ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า นายไก่แม้จะเป็นเจ้าของห้องเช่า แต่เมื่อให้นายไข่เช่าแล้ว นายไข่ย่อมมีสิทธิครอบครองห้องเช่าตามสัญญาเช่า  เมื่อนายไข่ไม่ชำระค่าเช่า นายไก่จะต้องฟ้องร้องนายไข่เสียก่อน  จะมาใช้อำนาจงัดกุญแจเข้าไปในห้องที่ให้นายไข่เช่าโดยพลการไม่ได้  นายไก่จึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 362  ให้ปรับ 2,000 บาท

         ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุได้ไปที่ห้องพิพาทนั้น เป็นเพียงการไปเป็น พยานรู้เห็นในการขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยสำคัญผิด ว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำความผิด การกระทำของตำรวจทั้งสามนายจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตาม ป.อาญา มาตรา 365 (2) ให้ยกฟ้อง

(แนวฎีกาที่ 5785/2544)

...................... 

ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

          มาตรา 362  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 365  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา  362 มาตรา 363  หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
          (1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือ
          (3) ในเวลากลางคืน
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

............................. 

         นี่ก็เป็นปัญหาที่เจอกันบ่อย  จะให้ใครเช่าบ้านเช่าห้อง ต้องเลือกต้องคัดให้ดี ว่าเขามีรายได้พอที่จะชำระค่าเช่าได้ประจำ อาจไม่ทุกเดือนก็ได้ ยังไงๆ ก็คงมีบ้างที่ขอผัดค่าเช่า ก็หมั่นทวงถามเอาหน่อย เพราะบางทีคนที่เช่าบ้านเราอาจไปเป็นหนี้คนอื่น หนี้นอกระบบ ใครทวงก่อนได้ก่อน  เราก็ต้องขยันทวงนะครับ ดั่งเช่นสุภาษิตที่ว่า “นกที่ออกหากินแต่เช้า ย่อมได้หนอนก่อน”

         หากเจอกรณีผู้เช่าบ้านหรือเช่าห้องไม่จ่ายค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออก ทั้งทนทั้งอึด เราต้องฟ้องขับไล่และให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนนะครับ  ถึงตอนนั้นมีกฎหมายรองรับว่าหากผู้เช่ายังไม่ยอมออกไปอีก ก็จะถูกจับกุมคุมขังได้ครับ

                                              .......................................................



วันที่ 16 ธันวาคม 2555  เวลา 9.26 น.
         เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับบริษัทของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนธุรกิจมีการเช่าห้องไว้และได้ปล่อยให้เช่าช่วงเพื่อเอากำไรจากส่วนต่างของค่าเช่า เมื่อผู้เช่าช่วงค้างค่าเช่าหลายเดือนและไม่ยอม ออกจากห้องเช่า จึงได้ฟ้องขับไล่ ศาลพิพากษาให้ผู้เช่าออกพร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท แต่ผู้เช่าก็ไม่ยอมออก แถมปิดห้องแล้วหายตัวไป ครั้นจะดำเนินการต่อไปในชั้นบังคับคดี ขั้นตอนก็มาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เลยหาวิธีเข้าทางลัดไป แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าจะไปเปิดห้องที่ให้เช่านี้และขนย้ายทรัพย์ของผู้เช่าพร้อมขอเจ้าพนักงานตำรวจสองนายร่วมเดินทางไปเป็นพยานด้วย ไปถึงก็ตัดกุญแจ ถ่ายภาพทรัพย์และทำบัญชีทรัพย์ทุกชิ้น ขนย้ายไปเก็บไว้ยังห้องเก็บของในบริเวณห้องเช่า แล้วพากันกลับไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินของผู้เช่าอีกครั้ง แล้วทำการติดต่อผู้เช่าให้มาตรวจและรับเอาทรัพย์สินคืนไปพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายตามที่ศาลพิพากษา

         การแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานการมีเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นพยานของผู้เขียนนี้ หากผู้เช่าจะเอาเรื่อง ก็มิได้ทำให้หลุดจากข้อหาบุกรุกไปได้ แต่เนื่องจากบริษัทเสียประโยชน์ที่นอกจากจะไม่ได้ค่าเช่าจากผู้เช่าแล้ว บริษัทยังจะต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่เจ้าของห้องทุกเดือนมาตลอด ก็ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้เขียนเลือกวิธีลัดเพราะเร็วกว่ามาก แม้จะเสี่ยงก็ตาม โชคดีที่ผู้เช่าไม่แจ้งความเอาเรื่อง แถมยังบอกให้เอาทรัพย์สินของผู้เช่าที่เก็บรักษาไว้นั้นออกจำหน่ายนำเงินมาชำระค่าเสียหายได้เลย แต่ก็ต้องให้ผู้เช่าทำหนังสือยินยอมให้จำหน่ายเป็นหลักฐานก่อน ถึงจำหน่ายทรัพย์ออกไปได้ ไม่งั้นอาจโดนย้อนศรข้อหาลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ได้อีก

         ปวดหัวนะครับ กับพวกที่ค้างค่าเช่าแล้วไม่ยอมออกไปน่ะ
                                           .............................................................
 
17  ธันวาคม 2555  เวลา 10.30  น.

         เมื่อปีที่แล้ว มีเจ้าของห้องเช่าเล็กๆ ระดับค่าเช่าไม่เกิน 1.000 บาทอยู่แห่งหนึ่ง มาปรึกษาผู้เขียนว่าผู้เช่ารายหนึ่งปิดห้องไม่อยู่บ้านมา 3 เดือนแล้ว ค่าเช่าก็ไม่จ่าย โทร.ติดต่อไปก็บอกไปทำงานต่างจังหวัด ยังจะมาพักอยู่ แต่ไม่ยอมโอนค่าเช่าที่ค้างมาให้ พอโทร.ทวงบ่อยๆ เข้าก็ไม่ยอมรับโทรศัพท์  ผู้เขียนเลยแนะนำให้ไปบอกผู้ใหญ่ บ้านกับตำรวจแถวบ้านมาเป็นพยานในการตัดกุญแจ ทำบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งพบจักรยานยนต์เก่าๆ 1 คัน ชุดเครื่องเสียงระดับล่าง 1 ชุด ตู้เย็นขนาดเล็ก กองเสื้อผ้าเก่าๆ เหม็นๆ อีก 1 กองใหญ่  ก็เก็บรวบรวมใส่กล่องใส่ถุงไว้ในห้องว่างของเจ้าของห้อง และเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ซะเลย ไม่ได้แนะนำให้ไปลงประจำวันเพราะเห็นว่าไม่พ้นผิดหากคนเช่าจะแจ้งความ  แต่เห็นว่าเจ้าของห้องต้องการมีรายได้ทุกเดือนจากห้องที่ให้เช่า งั้นมาอ่านใจแล้วเสี่ยงกันดีกว่า  ผู้เขียนลองใช้โทรศัพท์ของผู้เขียนโทร.ไป เขาก็รับทันที คงเพราะเป็นเบอร์แปลก  เขาบอกไปเกิดอุบัติเหตุขาหักกำลังจะออกจากโรงพยาบาล เดี๋ยวจะโอนเงินค่าเช่าที่ค้างมาให้ แล้วจะให้ญาติมารับทรัพย์สินกลับไป

         จนป่านนี้ ปีเศษแล้วยังไม่มาเลย ขาที่หักก็คงหายดีแล้ว  ถ้าเป็นปลาดาวปลาหมึก ก็อาจมีขางอกออกมาใหม่อีกด้วย ทรัพย์ที่เอาไปเก็บไว้ก็กลายภาระ มากินเนื้อที่ที่ควรจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น  จะเอาไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชำระค่าเช่าห้องที่ค้างก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายให้ได้แค่สิทธิยึดหน่วงเท่านั้น  ครั้นจะเอามาใช้ก็เกรงว่าทรัพย์จะเสื่อมสภาพ กลายเป็นเจ้าของห้องต้องใช้ค่าเสื่อมสภาพ ค่าเสียหายให้เขาไปซะอีก  เลยต้องจำทนเก็บไว้แบบไม่อยากรักษาต่อไป เพราะทรัพย์พวกนี้จะตกรุ่นไปทุกๆ ปี เสื้อผ้าที่เหม็นก็ให้ใส่ถุงพลาสติกใส่กล่องยกออกไปไว้ที่เพิงนอกบ้าน  แล้วรอจนกว่าเขาจะมาเอาหรือจนกว่าแน่ใจว่าเขาจะไม่มาเอาให้ชัดเจนกว่านี้ แล้วค่อยว่ากันใหม่

         กรรมมั๊ยครับ
                               ............................................................
 

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขอแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อของแผ่นดิน




พลุที่ครอบครัวผู้เขียนจุดขึ้นที่บ้าน เพื่อถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา  ๕  ธันวาคม ๒๕๕๕





วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กู้เงินเค้า แล้วตกลงยอมจ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผลจะเป็นอย่างไร


                 ตอนที่ร้อนเงิน  จะกู้ธนาคารก็ยุ่งยาก ขาดหลักประกัน สู้กู้นายทุนนอกระบบดีกว่า  ไม่เกี่ยงดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ถึง 20 ต่อเดือน  บางแหล่งเล่นต่อวันก็มี  มีคนค้ำประกันหนึ่งคน  วันเดียวก็ได้เงินมาใช้จ่ายตามใจอยากแล้ว  แต่ตอนส่งคืนเงินที่กู้นะซิ  ต้องส่งดอกเบี้ยรายวันทุกวัน  ขาดไม่ได้  ส่วนเงินต้นต้องจ่ายคืนครั้งเดียวทั้งก้อน ไม่มีแบ่งจ่ายเหมือนผ่อนธนาคาร  หนักเข้าๆ ผ่อนไม่ไหวก็โวยวายว่านายทุนคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด  ตนจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกวันรวมแล้วมากกว่าเงินต้นที่กู้เป็น 10 เท่าแล้ว  
 

มาดูฎีกานี้กันนะครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2167/2545

           สมชายกู้เงินจากสมหญิง 200,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน แต่เขียนในสัญญากู้ยืมว่าร้อยละ 15 ต่อปี  กำหนดใช้คืนภายใน 6 เดือน

           วันที่กู้สมหญิงหักดอกเบี้ยก่อนทันที 6,000 บาท แล้วจ่ายเงินให้สมชายไปเพียง  194,000  บาท 

           หลังกู้ สมชายได้ชำระดอกเบี้ยให้สมหญิงไปอีกเป็นเงิน  80,000  บาท แล้วก็ไม่ชำระอีกเลยทั้งต้นทั้งดอก  สมหญิงทวงถาม  สมชายก็เฉย  สมหญิงจึงฟ้องศาลขอให้สมชายชำระเงินต้น  200,000  บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15  ต่อปีอีกส่วนหนึ่ง

           สมชายต่อสู้คดีว่า ตนได้กู้เงินจากสมหญิง  200,000  บาทจริง  แต่ในวันที่กู้ ได้รับเงินจากสมหญิงเพียง 194,000  บาทเพราะสมหญิงหักค่าดอกเบี้ยไป  6,000  บาท  สมหญิงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3  ต่อเดือน กับตนได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้ว  80,000  บาท  ดอกเบี้ยที่สมหญิงคิดผิดกฎหมาย ดังนั้นสมชายจึงเป็นหนี้สมหญิงเฉพาะเงินต้น  114,000 บาทเท่านั้น  ขอให้ศาลยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้สมชายชำระเงินจำนวน  200,000  บาท ให้แก่สมหญิง  ส่วนดอกเบี้ยให้ชำระในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีนับแต่วันฟ้อง

           สมชายไม่พอใจ จึงขออนุญาตศาลชั้นต้นอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า สมหญิงคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นผลให้ดอกเบี้ยโมฆะ  ดังนั้นจึงต้องนำเงินค่าดอกเบี้ยที่สมชายจ่ายไปรวม 86,000  บาท ไปหักเงินต้นก่อน  สมชายจึงเหลือหนี้เงินต้นแก่สมหญิงเพียง 114,000  บาท 

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้สมหญิงจะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475  มาตรา  3   ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  654  มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะก็ตาม  แต่เมื่อสมชายจ่ายดอกเบี้ยให้แก่สมหญิงด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกู้ยืมเงินกับสมหญิง  จึงเป็นการชำระตามอำเภอใจ  ตามมาตรา  407  สมชายจะเรียกดอกเบี้ยคืนหรือนำมาหักชำระหนี้เงินต้นไม่ได้  พิพากษาตามศาลชั้นต้น คือให้สมชายชำระเงินต้นคืนแก่สมหญิง  200,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป 

 

           จากฎีกานี้ จะเห็นว่า การชำระดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบไปมากน้อยเพียงใด  ถือว่าเป็นการสมัครใจชำระ  จะมาเรียกคืนหรือนำมาหักกับเงินต้นไม่ได้    ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เกินร้อยละ  15  ปี  หากสมชายยังไม่ได้ชำระ  ก็ไม่ต้องชำระตามสัญญาที่เขียนไว้  คงชำระเท่ากับดอกเบี้ยอัตราผิดนัดทั่วๆ ไป  คือร้อยละ  7.5   ต่อปี

..........................................

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ข้อกฎหมายกับคำพิพากษาศาลฎีกา


เนื่องจากบทความที่จะเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยฯ ผู้เขียนได้พยายามค้นหา พยายามคิดที่จะนำมาลงในระยะนี้ยังไม่มีเรื่องใดที่จะเพิ่มเติม  แต่ไม่อยากให้บล็อกฯ นิ่งอยู่เฉยๆ  เลยจะขอนอกเรื่องงานไกล่เกลี่ยฯ โดยจะนำข้อกฎหมายหรือคดีแปลกๆ หรือการเพลี่ยงพล้ำในทางคดีที่ผู้เขียนค้นพบจากห้องสมุดกฎหมายหรือจากหนังสือที่ผู้เขียนสะสมมาเล่าสู่กันฟัง โดยในบางเรื่องจะเป็นการบอกใบ้ว่า ชาวบ้านอย่างเราๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกฎหมายก็ย่อมมีความรู้สึกกลัวว่าจะใช้ข้อกฎหมายผิด แต่ก็ยังมีผู้ที่ใช้กฎหมายประจำทำคดีผิดเพี้ยนไป  ดังนั้นเราต้องอย่ามองตัวเราว่าใช้กฎหมายไม่เป็นนะครับ  ผู้เขียนมิได้เจตนาจะนำบทความหรือคดีใดๆ มาเพื่อตำหนิผู้เกี่ยวข้อง  เพียงแต่อยากให้ประชาชนอย่างเราๆ เข้าใจว่า เรายังมีศาลเป็นที่พึ่ง ที่จะให้ความยุติธรรมกับเราได้ครับ

เรามาทำความเข้าใจกับกระบวนการฟ้อง การพิจารณาคดี ไปจนถึงการพิเคราะห์ของศาลเพื่อที่จะลงโทษจำเลยในคดีอาญา ว่าจะลงโทษตามคำฟ้องได้เพียงใด โดยจะพยายามใช้ภาษากฎหมายที่อ่านง่าย เข้าใจง่ายนะครับ

คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยได้ขายเทปผีซีดีเถื่อน  เคยโดนจับส่งฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังมากระทำความผิดซ้ำอีก มีบทกฎหมายให้ลงโทษสองเท่าแก่ผู้ที่เคยได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วในความผิดที่ได้กระทำซ้ำยังไม่ครบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2545

ผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 และจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ลงโทษปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544  แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ก่อนที่จะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในคดีดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่ผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปีกลับมากระทำความผิดอีกตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้ได้  ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

........................................

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  มาตรา 73 บัญญัติว่า “ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษ เป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

จำเลยในคดีนี้ จึงโชคดีที่ไม่โดนโทษเบิ้ลเป็นสองเท่า แต่ก็เหมาะสมในฐานที่ได้ฝ่าฝืนกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ยังทำผิดอีก ไม่รู้ว่าในระหว่างขายอยู่นั้นจะไม่คิดเลยรึว่า มีสิทธิ์โดนจับอีก

คดีนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีก็ทราบดีว่าศาลไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าได้ เพราะในวันที่ถูกจับกุมในความผิดครั้งที่สองนั้น ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีความผิดที่ถูกจับกุมครั้งแรก แม้คดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม ก็มิอาจถือว่าจำเลยต้องระวางโทษ

ในการฟ้องคดีไม่ว่าจะโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือทนายความทั้งบิ๊กๆ หรือที่พึ่งได้ตั๋วทนายใหม่ๆ ในบางครั้งที่มีความเห็นในพฤติการณ์ที่ก้ำกึ่งกับข้อกฎหมาย ก็อาจบรรยายฟ้องเข้าไปโดยมีเจตนาเพื่อขอให้ศาลพิเคราะห์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่นักกฎหมายต่อไป มิได้เป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด