วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เหตุเกิดที่โรงพยาบาลสารภี



เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ภรรยาผู้เขียนประสพด้วยตัวเอง  เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้วนี่เอง

เธอเป็นผู้เล่า  ผู้เขียนเป็นผู้เรียบเรียง

: : : : :

น้าจัน น้าชายของภรรยาผู้เขียน อายุ ๗๐ ปีเศษ ฟันกรามผุ มีอาการปวดฟันมาหลายวันแล้ว กินยาจนกระทั่งหายปวด  ก็มาให้ภรรยาผู้เขียนพาไปหาหมอเพื่อไปถอนฟันซี่นั้นออกซะ  ภรรยาผู้เขียนก็พาไปที่ โรงพยาบาลสารภี ไปแผนกทันตกรรม อยู่ตึกด้านหลัง

เมื่อหมอได้ทำการถอนฟันซี่กรามซี่นั่นออกไปแล้ว ก็เอาผ้าก๊อซฆ่าเชื้ออุดแผลที่ถอนฟันให้น้าจันอมไว้  แล้วบอกให้ไปรอรับยาที่ตึกข้างหน้า

ระหว่างนั่งรอรับยาอยู่นั้น น้าจันบอกภรรยาผู้เขียนว่าผ้าก๊อซซับเลือดเต็มแล้ว  อยากเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่แทน  ภรรยาผู้เขียนก็เลยชวนน้าจันเดินไปที่ห้องฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อไปขอเปลี่ยนผ้าก๊อซจากพยาบาลในห้องนั้น

เมื่อถึงหน้าห้องฉุกเฉิน ภรรยาผู้เขียนบอกให้น้าจันนั่งรออยู่หน้าห้อง ภรรยาผู้เขียนจะเข้าไปบอกพยาบาลให้ทราบก่อน

เมื่อภรรยาผู้เขียนเปิดประตูเข้าไปในห้อง พบพยาบาลกำลังจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรองรับคนไข้ฉุกเฉินอยู่ 3 คน  ภรรยาผู้เขียนจึงบอกพยาบาล

ภรรยาผู้เขียน   “คุณพยาบาล  น้าดิชั้นมาถอนฟันแล้วผ้าก๊อซซับเลือดจนล้นเต็มปากแล้ว จะมาขอเปลี่ยนก้อนใหม่ค่ะ”

พยาบาล   “คนไข้อยู่ไหนคะ”

ภรรยาผู้เขียน   “อยู่หน้าห้องค่ะ”

พยาบาล   “รีบพาเข้ามาข้างในเลยค่ะ จะเปลี่ยนให้เดี๋ยวนี้เลย”

พยาบาลทั้งสามก็วางมือจากการจัดเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วไปหยิบเอาคีมเครื่องมือเพื่อคีบผ้าก๊อซจากหม้อนึ่งฆ่าเชื้อ ส่วนภรรยาผู้เขียนก็หันกลับไป เพื่อไปตามน้าจันให้เข้ามาในห้อง  บังเอิ๊ญ  บังเอิญว่ามีลุงแก่คนหนึ่ง อายุพอๆ กับน้าจัน เปิดประตูพรวดพราดเข้ามาในห้องพอดี คุณพยาบาลทั้งสามก็เข้าใจว่าเป็นน้าจันที่คงจะอมผ้าก๊อซที่ชุ่มเลือดจนจะล้นปากไม่ไหวต้องรีบเข้ามา และคงด้วยจิตวิญญาณของความห่วงใยในสุขภาพของคนไข้ คุณพยาบาลก็รีบเดินเข้าไปหาลุงคนนั้นทันที 

พยาบาล   “ลุง  เร็ว มานั่งนี่เลย เดี๋ยวจะจัดการให้”

พูดเสร็จก็ตรงไปจูงมือลุง รั้งตัวให้นั่งลงที่เก้าอี้อย่างเร็ว  ลุงแกก็ทำหน้าตาเหรอหรา คงสงสัยว่าอะไรกันวะ มาจับข้าทำไมวะ เป็นที่งงยิ่งนัก

พยาบาลคนหนึ่งรีบเอาคีมเครื่องมือเดินมาหาลุง เพื่อเตรียมมาคีบผ้าก๊อซชุ่มเลือดออกจากปาก  ส่วนพยาบาลคนที่จับลุงให้นั่งลงนั้น ก็ได้จับคอจับคางลุงให้แหงนหน้าขึ้น แล้วบอกลุงอย่างเร็ว 

พยาบาล  “ลุง อ้าปากเร็ว  อ้ากว้างๆ”

พยาบาลท่านนั้นบอกพลาง เอามือจับคางลุงง้างปากให้อ้ากว้างๆ  พยาบาลอีกคนก็เอาคีมเตรียมที่จะคีบก้อนผ้าก๊อซออก ไปจ่อที่ปากลุง ส่วนลุงที่กำลังงงอยู่นั้น พอได้สติก็ส่งเสียงเพื่อพูดบอกอะไรสักอย่างแก่พยาบาล  แต่เนื่องจากโดนมือพยาบาลล็อคทั้งคอทั้งคาง ก็เลยไม่สามารถส่งเสียงเป็นภาษาที่รู้เรื่องกันได้ เสียงที่ออกมาจึงเป็นเสียงบ่งบอกถึงอาการตกใจกึ่งโวยวายดังเป็นชุดเลย 

ลุง    @ & ! ? % $ ฿  ”
 

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วมาก จนภรรยาผู้เขียนเองที่กำลังจะบอกพยาบาลทั้งสามว่าน้าชายตนยังนั่งรออยู่ข้างนอก ไม่ใช่ลุงคนนี้ ก็ไม่ทันการซะแล้ว แค่เห็นลุงกำลังโดนพยาบาลทั้งสามรวมพลังเป็นแท็คทีมจับลุงเฮดล็อคอยู่ ก็ปล่อยก๊าก  หัวเราะน้ำหูน้ำตาเล็ด จนพอตั้งสติได้ก็บอกกับพยาบาลทั้งสาม 

ภรรยาผู้เขียน   “ไม่ใช่ลุงคนนี้ค่ะ  ไม่ใช่  ไม่ใช่”

แต่พยาบาลทั้งสามคงไม่ทันได้ยิน ยังคงมัวแต่ล็อคลุงเพื่อให้อ้าปาก ส่วนลุงแกก็ไม่ยอมอ้า  แกพยายามดิ้นรนสู้  ใช้มือไม้ปัดป้องกันตัวสุดแรง(ชรา)เหมือนกัน 

พยาบาล   “ลุง อย่าดิ้นซิ  อ้าปากด้วยเร็วๆ  หนูจะเปลี่ยนผ้าให้”

ลุง ซึ่งค่อนข้างผอมแห้ง ไม่อาจต่อสู้ให้ตัวเองเป็นอิสระจากพยาบาลทั้งสามได้ ก็เอาแต่ดิ้น  ดิ้น และดิ้น
ส่วนภรรยาผู้เขียนที่เอาแต่หัวเราะ จนพอจะยั้งสติได้แล้ว ก็บอกกับพยาบาลใหม่อีกครั้งดังๆ กว่าเดิม 

ภรรยาผู้เขียน   “ คุณพยาบาล  ไม่ใช่ลุงคนนี้  น้าหนูนั่งรออยู่ข้างนอกห้องค่ะ”

พยาบาลทั้งสาม พอได้ยินได้ความดังนั้น ก็หยุดกึ๊ก  มือค้าง หน้าค้างนิ่ง  รวมสายตามองมาที่ภรรยาผู้เขียนแล้วหันกลับไปจ้องมองที่ใบหน้าของลุง  ส่วนลุงนั้นเหรอ คอพับคออ่อนอยู่บนเก้าอี้แล้ว 

พยาบาล   “ อ้าว  ไม่ใช่ลุงนี้เหรอ”

พูดเสร็จ พยาบาลทั้งสามท่าน ก็ปล่อยก๊าก หันเดินกลับไปนั่งที่เก้าอี้ใกล้ๆ ต่างเอามือกุมท้องตัวงอ หัวเราะลั่นห้องกันเลย

............

 

น้าจันก็ได้เปลี่ยนผ้าก๊อซก้อนใหม่ก่อนกลับบ้าน  ส่วนลุงยังคงอ่อนระโหย นั่งทำหน้าตางงๆ ต่อไปโดยภรรยาผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่า ลุงแกจะเข้าไปเอาอะไรในห้องฉุกเฉินจนกระทั่งทุกวันนี้

 

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน บริหารไม่ดี อาจได้สิทธิเที่ยวห้องกรงฟรี

 
 



          กองทุนหมู่บ้าน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๔  ซึ่งต่อมาปัจจุบันได้มีเป็น พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ.๒๕๔๗  เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ  แต่ที่ผู้เขียนจะกล่าวครั้งนี้ จะไม่พูดถึงตัวบทกฎหมาย  แต่จะพูดถึงการปฏิบัติ การกระทำของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบริหารกองทุนหมู่บ้าน  คือคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านนั่นเอง

          กองทุนหมู่บ้านแต่ละกองทุนนั้น รัฐได้กำหนดให้มีข้อบังคับใช้เพื่อดูแลบริหารการนำเงินจากกองทุนมาให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อสร้างเสริมอาชีพ หรือใช้จ่ายในความจำเป็นแก่การดำรงชีพ  ซึ่งเดิมกำหนดให้กองทุนฯ ให้สมาชิกกู้ยืมได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท  ส่วนดอกเบี้ยแล้วแต่สมาชิกจะมีความเห็นหรือลงมติ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็มีตั้งแต่ร้อยละ ๖ ถึง ๑๕ ต่อปี 

          ปัจจุบัน รัฐโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  มีมติให้เพิ่มวงเงินกู้สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นจากเดิม ๕๐% โดยการขอกู้ทั่วไปที่เดิมกู้ได้รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท เพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐  บาท ส่วนกรณีใช้การประชุมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทั้งหมดพิจารณาปล่อยกู้ โดยมีอำนาจอนุมัติต่อรายที่วงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ปรับเพิ่มเป็น ๗๕,๐๐๐ บาท ส่วนกรณีอนุมัติวงเงินฉุกเฉินจากเดิม ๑๐,๐๐๐  บาท เพิ่มเป็น ๑๕,๐๐๐  บาท    ด้วยรัฐอาจมองว่าในปัจจุบัน เงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท อาจนำไปลงทุนได้ไม่เพียงพอ จึงได้เพิ่มวงเงินให้แต่ก็มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเช่นกัน  อีกทั้งรัฐยังมีโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ ๒  และที่ ๓ ให้แก่กองทุนหมู่บ้านอีกกองทุนละหนึ่งถึงสามแสนบาท และหนึ่งล้านบาท ตามลำดับ

          การปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ยืมอาจถูกใจบรรดาเหล่าสมาชิกที่จะกู้ได้เงินเพิ่มขึ้นอีก  แต่กรรมการกองทุนฯ ซิครับ ที่จะต้องคิดหนักกับสมาชิกที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี แต่เมื่ออ้างขอกู้ตามสิทธิแล้ว คณะกรรมการจะหาเหตุผลใดมาเป็นเหตุที่ไม่อาจอนุมัติให้กู้ได้เต็มจำนวนตามที่รัฐเปิดโอกาส เพราะเบื่อการทวงหนี้ซ้ำซากกับสมาชิกเหนียวหนี้หน้าเดิมๆ ประจำทุกปี  เลยไม่อนุมัติการให้กู้ยืมง่ายๆ  บางกองทุนจึงเหลือเงินค้างในบัญชีเป็นจำนวนแสนทีเดียว         

          ในการให้กู้ยืมเงินของแต่ละกองทุนก็มีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยต่างกัน แยกได้เป็น ๒ วิธีหลักๆ คือ

          วิธีที่หนึ่ง กำหนดการใช้คืนเป็นรายเดือนๆ ภายในหนึ่งปี คือ ๑๒ งวดใน ๑ ปี
          วิธีที่สอง กำหนดการใช้คืนเป็นรายปี คือใช้คืนครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดเวลา ๑ ปี  คืองวดเดียวปีเดียว   

         สำหรับวิธีที่หนึ่ง  การกำหนดชำระคืนเป็นรายเดือนจะทำให้กองทุนนั้นๆ มีเงินหมุนเวียนให้สมาชิกได้กู้ยืมได้ตลอดปี ซึ่งกองทุนก็จะได้ดอกเบี้ยของเงินที่นำออกให้สมาชิกกู้ยืมใหม่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่กรรมการกองทุนก็จะต้องเปิดรับชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต้องนำฝาก-ถอนเงินที่รับคืนและให้กู้แก่สมาชิกใหม่ และกรรมการกองทุนต้องมานั่งทำงานในทุกเดือนไป

          วิธีที่สอง  กำหนดชำระคืนเป็นรายปีๆ ละครั้ง  เงินทั้งหนึ่งล้านให้สมาชิกกู้ไปในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕  พอถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖  สมาชิกก็นำเงินที่กู้ยืมไปมาส่งคืนพร้อมดอกเบี้ย กรรมการกองทุนก็นำเงินที่สมาชิกมาใช้คืนออกให้กู้ยืมใหม่ต่อไป คณะกรรมการกองทุนก็ทำบัญชี ทำงบดุลปิดบัญชีได้ไม่ยาก ก็ปีละครั้งเอง  จะมานั่งทำบัญชีกันอีกทีก็รอบปีถัดไป  ง่าย สบาย ไม่วุ่นวาย 

          เท่าที่ผู้เขียนได้ยินมา ปัญหาในเรื่องที่สมาชิกใช้เงินกู้คืนช้า ไม่ตรงกำหนด หรือยังไม่ใช้คืนเลยนั้น  ตัวสมาชิกธรรมดาไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาใหญ่มากๆ ก็คือสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการกองทุนนั่นแหละ ตัวดีนัก บางกองทุนก็ตัวประธานกองทุนเองเลยที่สร้างปัญหา  คือ ประธานกองทุนหรือกรรมการกองทุนได้เบียดบังนำเอาเงินกองทุนไปใช้ส่วนตัวหรือใช้ผิดประเภท ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีกำหนดการชำระเงินคืนเป็นรายปี  กรรมการรับเงินที ก้อนใหญ่ๆ  แทนที่จะนำเงินที่สมาชิกนำมาใช้คืนเข้าฝากบัญชีธนาคารออมสิน แต่กลับเอาไปใช้ส่วนตัวซะ  มากบ้าง น้อยบ้าง  บางกองทุนกรรมการกองทุนที่มีความสัมพันธ์กันก็ร่วมกันเบียดบังเป็นหลักแสนเลยทีเดียว  ทุกวันนี้มีกรรมการกองทุนหลายนายที่ถูกแจ้งความจับ ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์  กันหลายแห่งด้วยกัน 

          กรรมการกองทุนที่ร่วมทำการทุจริตบางกองทุนพยายามปกปิดการเบียดบังของพวกตนไว้อย่างที่สุด  พอสมาชิกมาขอกู้ยืมก็บอกไม่มีเงินให้กู้  สมาชิกขอดูบัญชีการให้กู้ยืมก็บอกยังทำไม่เสร็จ  จนเมื่อปิดไม่มิด ความแตก มีการแจ้งความ ก็มีการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือโดยกรรมการกองทุนกันเองให้กรรมการที่ทุจริตยอมลาออก  ยอมรับผิดชดใช้เงินกองทุนที่เบียดบังไปใช้ส่วนตัวเป็นหลักแสนนั้น โดยตกลงจะผ่อนใช้ให้แก่กองทุนเดือนละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐  บาท ดอกเบี้ยก็ไม่คิด เมื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว สิทธิในการที่จะดำเนินคดีอาญาก็ยุติ กองทุนหมู่บ้านก็ได้สิทธิใหม่คือได้รับการชำระหนี้จากกรรมการขี้โกงเดือนละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท  แล้วกี่ปีละครับที่จะชำระหมด ทุนหาย กำไรหด งบดุลก็ปิดไม่ลง  เหล่าสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่ชั้นดีๆ ที่ชำระคืนตามกำหนดก็โวยวายกันว่า ตนกู้ ๒,๐๐๐ บาท ชำระคืนใน ๑ ปี  ดอกเบี้ยก็เสีย  แต่กรรมการโกงไปเป็นแสนๆ แล้วมาทำหนังสือรับสภาพหนี้คืนแต่ยอดเงินที่โกง ดอกเบี้ยก็ไม่ต้องจ่าย  มันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา    นี่คือเรื่องจริงนะครับ  ผู้เขียนได้เห็นเรื่องเช่นนี้ ๒ เรื่องด้วยกัน  ก็ถามบรรดากรรมการคนใหม่ว่าทำไมไม่ดำเนินคดีอาญาเพื่อบีบให้มีการใช้เงินคืนกองทุนให้รวดเร็ว  เขาตอบว่าเขาไม่รู้เรื่องมาก่อนว่ามีปัญหานี้กัน กรรมการบางคนก็ไม่ยอมแม้แต่จะพูดอะไรสักคำ  กรรมการขี้โกงของกองทุนหมู่บ้านนี้ก็โชคดี รอดตัวในคดีอาญาไป รอแต่ผิดนัดชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อไร ก็อาจจะโดนฟ้องทางแพ่งต่อไป  ถึงฟ้องไป กรรมการก็คงจะบอกว่าไม่มีเงินก้อน ขอผ่อนให้ตามเดิม

          แต่สำหรับกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ก็เคยได้ยินว่า เหล่ากรรมการขี้โกงย้ายบ้านหลบหนีหมายจับเลยก็มีหลายแห่ง คดียังไม่เสร็จการพิจารณาของศาลก็มี  ที่ติดคุก นอนฟรี รับประทานอาหารฟรีก็มี

          นี่แหละครับ  เหล่ากรรมการกองทุนที่บริหารไม่ดี เอาเงินกองทุนไปหวังใช้ฟรี ก็อาจได้รับสิทธิเที่ยวห้องกรง  กินอยู่ฟรีนะครับ

         

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้านใด ไม่อยากเสียค่าจ้างทนายฟ้องลูกหนี้ผิดนัด ขอให้นำลูกหนี้นั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯ


            แต่เดิมนั้น  กองทุนหมู่บ้านที่เหลืออดกับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้  ขอผัดผ่อนจนวินัยในการชำระหย่อนยาน  บรรดากรรมการกองทุนใจหนึ่งก็อยากจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ได้มีการชำระหนี้ เอาเงินมาคืนกองทุนเพื่อจะได้นำออกให้สมาชิกคนอื่นกู้ยืมไปใช้ประโยชน์บ้าง  อีกใจก็ลูบหน้าปะจมูก  ลูกหนี้คนนั้นก็ญาติ  คนนี้ก็เพื่อน  จะดำเนินคดีเดี๋ยวก็มีปัญหาโกรธเคืองกัน  จะส่งฟ้องก็โดนชาวบ้านตำหนิว่าทำรุนแรงไป แต่หากไม่ทำอะไรเลย บรรดาหนี้สะสมก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ช้าไปก็อาจจะหมดอายุความเอาแบบไม่รู้ตัว
          อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน
          หากเป็นการกู้ยืมเงินที่กำหนดชำระคืนเป็นงวดๆ   อายุความในการฟ้องคดี ๕ ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระ 
          แต่หากกำหนดชำระครั้งเดียว  อายุความจะเป็น ๑๐ ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระ
         เมื่อคณะกรรมการกองทุนจำต้องส่งเรื่องให้ฟ้อง  ก็ยังมีทางให้เลือกสองทางว่า จะให้อัยการฟ้องหรือจะจ้างทนายฟ้องดีเล่า
         จะให้อัยการฟ้อง  ค่าดำเนินการฟรี แต่ค่าธรรมเนียมศาล ค่าส่งหมายเรียก กองทุนหมู่บ้านต้องจ่ายเอง  ต้องมีรายงานการประชุมของคณะกรรมการกองทุนว่าให้ฟ้องนายนั่น นางนี่  มีเอกสารสำคัญให้ครบ และต้องก่อนหมดอายุความพอสมควรแก่อัยการ  ไม่ใช่อีก ๒-๓ เดือนจะหมดอายุความแล้วรีบส่ง  เพราะอัยการที่ดูแลเรื่องนี้มีน้อย แล้วไม่รู้ว่ามีกี่สิบกองทุนที่ส่งเรื่องมาให้อัยการฟ้อง อัยการจะต้องตรวจสอบเอกสารในแต่ละเรื่องว่าครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะยื่นฟ้องแล้วหรือไม่ ถ้าขาดเอกสารใด อัยการก็จะแจ้งให้กองทุนนั้นๆ จัดนำส่งเอกสารไปให้  หากมีเวลาให้อัยการเตรียมคดีที่ไม่เหมาะสม คดีอาจขาดอายุความได้  แต่ถึงแม้จะยังไม่ขาดอายุความ หากอัยการมีคดีอื่นๆ อีกมากมาย กว่าจะฟ้องคดีของเรา ก็อาจจะอีกนาน  นานจนกองทุนหมู่บ้านเจ้าของเรื่องกระวนกระวายใจยิ่งนัก  งั้นไปจ้างทนายความฟ้องดีกว่า เร็วดี 

          จะจ้างทนายฟ้องเอง  ค่าจ้างทนายเท่าไร กี่พันบาท กองทุนหมู่บ้านมีเงินกำไรพอที่จะนำมาจ่ายค่าจ้างทนายฟ้องได้สักกี่คดี  ค่าธรรมเนียมศาลอีก  อาจทำเอาทุนหายกำไรหด หมดเงินปันผลแก่สมาชิกได้

        ผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านอยู่ด้วย  แรกๆ อยากจะประหยัดเงินค่าจ้างทนายความ  ผู้เขียนบอกจะเป็นทนายฟ้องเอง ไม่มีค่าทนาย แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว เกรงว่าจะได้ไม่เท่าเสีย  คือกองทุนหมู่บ้านจะได้เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ผู้เขียนเองจะเสียคนตามกฎธรรมชาติของหมู่บ้าน คือการฟ้องคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง ลูกหนี้อาจเป็นคนบ้านเหนือ บ้านใต้ บ้านข้างๆ หรือญาติภรรยา  มีแต่เสียทั้งนั้น ตอนที่ผิดนัดชำระผู้เขียนก็ไปทวงมาแล้ว จ่ายมั่ง ไม่จ่ายมั่ง ลูกหนี้บางคนบ่นว่าเป็นเงินหลวง ไม่ใช่เงินพ่อเงินแม่ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เขาไม่ใช้ให้หรอก ที่หนักกว่านี้ลูกหนี้บางคนบอกว่าเงินกองทุนเป็นเงินของทักษิณ  ในเมื่อทักษิณไม่ได้บอกว่าพวกเขาต้องใช้คืน เขาก็จะไม่ใช้ ผู้เขียนล่ะมึนตึ้บ  หากยังคงตื๊อทวงต่อไป ก็ชักเริ่มห่วงว่าคนในครอบครัวผู้เขียนจะโดนพาล โดนนินทาเป็นหางเลขไปด้วย  เลยต้องจ้างทนายนอกหมู่บ้านฟ้องดีกว่า คดีละ ๒,๐๐๐  บาท  ค่าธรรมเนียมศาลต่างหาก เพียงแต่คัดที่มันหนักๆ ส่งฟ้อง ส่วนที่เบาๆ ก็ติดตามทวงถามบ่อยๆ เอา ประหยัดไว้ก่อน

           แต่ครั้นเมื่อมีกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ ขึ้นมา  ผู้เขียนก็เห็นว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ นี้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีผลของการทำสัญญาประนีประนอมได้เทียบเคียงกับคำพิพากษาตามยอมของศาล และรวดเร็วกว่าการฟ้องโดยอัยการหรือทนาย  จึงถือโอกาสอันดี เข้าไปปรึกษาหารือกับปลัดอำเภอผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ ท่านปลัดฯ ก็ใจดี บอกให้ส่งเรื่องมาเลย จะดำเนินการให้ ผู้เขียนจึงได้จัดเบาๆ ก่อนในชุดแรก ๔ เรื่อง เมื่อถึงกำหนดเวลา ท่านปลัดฯ นัดวันให้ไกล่เกลี่ยเช้าหนึ่งเรื่อง-บ่ายหนึ่งเรื่อง สองวันก็เสร็จ   ซึ่งในวันที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ นั้น ท่านปลัดกล่าวให้คู่พิพาททราบถึงกฎกระทรวงฯ นี้ดีอย่างไร มีผลบังคับอย่างไร แล้วก็วกมาที่การเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน จริงหรือไม่ จะเจรจาต่อรองกันอย่างไรให้คุยกันมาได้เลย คุยกันที่นี่(อำเภอ) ดีกว่าไปคุยที่ศาล แค่เดินขึ้นศาลก็ขาสั่นกันแล้ว ยังเสียทั้งค่าทนาย ทั้งเวลา ฯ  ท่านปลัดพูดไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อย ลูกหนี้ก็ยอมรับผิด เข้าใจคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  ไม่โกรธไม่เคือง ท่านปลัดก็ชวนคุยแบบมีความให้สมานฉันท์ต่อกัน  ต่างเดินยิ้มกันออกมาจากห้องไกล่เกลี่ยฯ แล้วหลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ต้องมาลุ้นกันว่า เมื่อถึงวันกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฝ่ายลูกหนี้จะจ่ายมั๊ย  ฝ่ายกองทุนหมู่บ้านนี้จะไปตามทวงมั๊ยกันล่ะครับ  แต่อย่างน้อยที่สุด กองทุนหมู่บ้านก็ได้สัญญาประนีประนอมยอมความที่เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาตามยอมของศาลไว้กับกองทุนหมู่บ้านแล้ว

          การส่งเรื่องให้อำเภอทำการไกล่เกลี่ยฯ  จึงเป็นทางเลือกที่สามที่เหมาะสมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

          สำหรับลูกหนี้ผิดนัดชำระกองทุนหมู่บ้านของผู้เขียนชุดต่อไปที่จะได้รับเกียรติให้ได้รับหนังสือเชิญจากท่านนายอำเภอ  ผู้เขียนจะจัดหนัก  ยกล็อต เหมาโหลส่งอำเภอเลยครับ เพราะเชื่อในศักยภาพของการจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยของอำเภอดังเช่นที่ผ่านมา  

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ห้องสนทนา คุยกันฉันมิตร


เรียนทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม

ผู้เขียนได้ทดลองทำบอร์ดสำหรับสนทนากันแบบง่ายๆ  ชื่อห้องสนทนา  แล้วคลิกที่  “คุยกันฉันมิตร” เป็นกระดานที่ใช้คุยต่อๆ กันแห่งเดียว รับรู้กันหมดทุกคน เดิมผู้เขียนจะทำเป็นเว็บบอร์ด เป็นของฟรี แต่เท่าที่ศึกษาดูแล้วเขาจะติดโฆษณามาให้ด้วย เกรงว่าท่านผู้เข้ามาอ่านจะเกิดความรำคาญ  ผู้เขียนเลยทดลองนำห้องทำบทความมาแปลงลงเป็นห้องสนทนาอยู่ข้างๆ นี้  ขวามือ ใต้คลิปวิดีโอ  ท่านใดอยากบอก อยากบ่นอะไร เชิญนะครับ