วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ห้องรับรอง


ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม  ผู้เขียนยินดีรับฟังข้อแนะนำเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป

บล็อกนี้ไม่ใช่บล็อกกฎหมาย  แต่จะนำกฎหมายดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง  จึงขอเชิญทุกท่านนำข้อกฎหมายมาแบ่งปันกันนะครับ

โปรดแจ้ง E-mail ของท่านเพื่อการติดต่อด้วย   
ขอบคุณมากครับ

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

การประนอมข้อพิพาท มีกฎหมายให้อำนาจมานานแล้ว


                    ผู้เขียนมีหนังสือเก่าๆ ที่เกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาททั้งของสภาทนายความ คือ "คำบรรยายทนายความผู้ทำหน้าที่ไกล่กลี่ยข้อพิพาท" จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  สภาทนายความ   และของอัยการ คือ คู่มือประนอมข้อพิพาท จัดทำโดย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) กรมอัยการ(ขณะนั้น) จึงอยากแบ่งปันความรู้และความคิดความเข้าใจของผู้เขียนในเรื่องนี้แก่ผู้สนใจด้วย  เผื่อที่จะมีการโต้แย้งหรือแตกความคิดออกไปให้หลากหลาย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำหน้าที่ "ผู้ไกล่เกลี่ยฯ" ต่อไป

                    การประนอมข้อพิพาท มีกฎหมายให้อำนาจมานานแล้ว เพียงแต่ที่มาที่ไปของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและผลของการประนีประนอมข้อพิพาทที่ได้เกิดขึ้น จะแตกต่างกับผลของการประนีประนอมตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  ยกตัวอย่างเช่น
                อำนาจการประนอมข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗
                    ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ นี้  บัญญัติให้นายอำเภอมีอำนาจประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้อยู่ก่อนแล้ว แต่หากคู่กรณีที่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน(สมัยนั้นเรียก ว่า ใบยอมความ)นั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสัญญาประนีประนอมไปยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อีกครั้ง
                        กฎหมายนี้ บัญญัติให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ประนอมข้อพิพาทด้วยตนเอง
           
                  ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒  (อพป.)
                      ให้หมู่บ้านฯ มีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน มีผู้ช่วยฯ กรรมการสภาตำบล ผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านเป็นกรรมการกลางในการประนอมข้อพิพาท

                  ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔
                        มีกรรมการที่แต่งตั้งฯ เป็นผู้ประนอมข้อพิพาท

          อำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของ คณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐
                              ให้คณะกรรมการหมู่บ้านนั้นๆ มีอำนาจทำการประนอมข้อพิพาททางแพ่งหรืออาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้
                        คณะกรรมการหมู่บ้าน มีขึ้นตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา ๒๘ ตรี(แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๔๒) ซึ่งระบุให้แต่ละหมู่บ้านมีคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน  โดยคณะกรรมการหมู่บ้านนี้จะประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง กับบุคลที่ราษฎรเลือกตั้งเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนตามที่นายอำเภอเห็นสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน

การประนอมข้อพิพาทตามกฎหมายเดิมๆ ข้างต้นนี้ เมื่อคู่กรณีทำสัญญาประนอมข้อพิพาทกันแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม   อีกฝ่ายต้องนำสัญญาประนอมข้อพิพาทนั้นไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนอมข้อพิพาทอีกครั้งหนึ่ง

          แต่สำหรับกฎหมายใหม่ล่าสุดคือกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ หากมีทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามกฎหมายใหม่ตามที่จะกล่าวต่อไปนี้แล้ว สัญญาประนีประนอมดังกล่าว ถือเทียบเท่าได้กับคำพิพากษา(ตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาล) โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม(พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ คือการที่คู่กรณีที่พิพาทกันตกลงที่จะให้ตั้งบุคคลที่น่าเชื่อถือเข้ามาเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคล้ายๆ กับเป็นองค์คณะผู้พิพากษา มาเป็นผู้พิจารณาเพื่อตัดสินชี้ขาดเรื่องที่พิพาทโดยจะไม่นำเรื่องไปฟ้องร้องกันที่ศาล คงอาจเพราะในเรื่องพิพาทบางเรื่อง ผู้พิพากษาของศาลอาจไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างดี การพิจารณาคดีจึงอาจไม่เข้าได้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง  คู่กรณีจึงตกลงให้ใช้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาเพื่อชี้ขาด (จะใช้คำว่าชี้ขาด  ไม่ใช้คำว่าพิพากษา) การตกลงใช้อนุญาโตตุลาการนี้ มักจะใช้โดยคู่กรณีที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ปัญหาเยอะ  ยุ่งยาก มีเรื่องของเทคนิคมากมายที่คู่กรณีเห็นว่าผู้พิพากษาอาจเข้าใจไม่ถึง  ซึ่งหากตกลงกันได้จนมีการทำสัญญาประนีประนอมกันแล้ว ก็ให้ใช้บังคับกันได้ตามที่ตกลงกันเลย หรือหากตกลงกันไม่ได้ก็ให้คณะอนุญาโตตุลา การพิจารณาและชี้ขาด (ก็พิจารณาเรื่องกันแบบศาลพิจารณาคดีนั่นแหละ  แต่เลี่ยงคำวลีไม่ให้ตรงกับที่หมายถึงศาล) ไม่ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลอีก เช่นบริษัทสร้างทางด่วนฯ ฟ้องการทางพิเศษ เรื่องที่การเก็บค่าทางด่วน หรือเรื่องระหว่างบริษัทใหญ่ๆ พิพาทกัน แล้วตกลงให้ใช้อนุญาโตตุลาการ จนมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือมีคำชี้ขาดให้แต่ละฝ่ายจะต้องปฏิบัติอย่างใดบ้าง ซึ่งก็เทียบเท่ากับคำพิพากษาของศาลเลยทีเดียว หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามแล้ว  อีกฝ่ายก็ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการบังคับตามสัญญาประนีประนอมหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เลย ไม่ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณากันใหม่อีก) ไม่ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลกันใหม่

                        เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้อำเภอทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทนี้ โดยให้กระทรวงทำการกำหนดหลักเกณฑ์ ต่างๆ ขึ้น   ก็ได้มีประกาศกฎกระทรวง ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓  เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓  โดยให้มีผลใช้บังคับกันตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔  (บังคับเรื่องการไกล่เกลี่ยนี้แหละ)

                        การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ตามแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๐ นี้  ให้นายอำเภอเปิดรับสมัครบุคคลในท้องที่ที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ทำเป็นบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คนเพื่อทำการคัดเลือกเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” เสนอคณะกรมการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้เป็น ”ผู้ไกล่เกลี่ย” ประจำอำเภอนั้นๆ (ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ย และประยอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓)
                       การจะไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามกฎหมายใหม่นี้  บัญญัติไว้ว่า ต้องคู่พิพาท(ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  เรียกว่า คู่กรณี)ประสงค์ที่จะให้นายอำเภอทำการไกล่เกลี่ยให้ นายอำเภอก็จะให้คู่พิพาททุกฝ่ายเลือกผู้ที่ตนประสงค์จะให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้จากบัญชีรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยและเลือกว่าจะให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย (เพราะกฎหมายบัญญัติให้ผู้ไกล่เกลี่ยมีเป็นคณะ ในคณะมีมากกว่า ๒ คน  แต่ต้องมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอหรืออัยการเป็นหัวหน้าคณะทุกคณะ จะเห็นว่าคล้ายๆ กับองค์คณะของผู้พิพากษาเลย)
                        เมื่อคณะผู้ไกล่เกลี่ยสามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทจนสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว หากคู่พิพาทฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้  กฎหมายนี้ให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามต่อไป
                       แต่หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ประสงค์จะให้นายอำเภอไกล่เกลี่ยหรือเพิกเฉยไม่มาไกล่เกลี่ยหรือไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ กฎหมายก็ให้นายอำเภอจำหน่ายเรื่องที่พิพาทนั้นๆ ออกจากสารบบ คู่พิพาทนั้นก็ต้องไปทำการฟ้องร้องคดีต่อศาลกันเองต่อไป

อนึ่ง  ข้อพิพาทที่ตกลงไกล่เกลี่ยกันได้จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จะบังคับกันได้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทาทางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ ฉบับนี้ คือหากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายจะไปร้องต่ออัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาลออกคำบังคับได้เลยนั้น ต้องไกล่เกลี่ยโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยที่ตั้งโดยนายอำเภอเท่านั้น




                    ข้อเขียนข้างต้นนี้ ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความเข้าใจของผู้เขียนเอง หากมีส่วนใดที่ผู้เขียนเข้าใจผิด ก็อยากจะได้รับการท้วงติงหรือโต้แย้งหรือแตกความคิดออกไปให้หลากหลาย เพื่อที่จะมีการแก้ไข ปรับปรุง หรือหาข้อยุติ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำหน้าที่ "ผู้ไกล่เกลี่ยฯ" ต่อไป

                                                                                                        //Peacemaker52


                       

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

เจ้าพนักงาน ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่

เจ้าพนักงานสองท่านนี้  คือผู้ที่คอยให้คำปรึกษา พร้อมทั้งแนะนำในการจัดตั้งชมรมฯ จนกระทั่งมีรูปร่างเป็นตัวตนแล้วและก็ยังได้เข้าร่วมประชุมชมรมฯ เพื่อเสนอแนะ ช่วยแก้ปัญหาบางประการได้เป็นอย่างดีจนปัจจุบัน  ซึ่งทางชมรมฯ ถือว่าท่านทั้งสองนี้ได้เป็นผู้มีบทบาทร่วมการก่อตั้งชมรมฯ  ต้องขอขอบพระคุณทั้งสองท่านนี้อย่างจริงใจ



นายทศน์พล   เอี่ยมโอษฐ์   เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ

 







นายธีทัต   ประกอบเที่ยง  นิติกรชำนาญการ



































วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญ กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.๒๕๕๓


สรุปสาระสำคัญ

กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ. 2553



                       1. นิยามสำคัญ (ข้อ 2)

                       ความผิดที่มีโทษทางอาญา หมายความว่า ความผิดที่มีโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่เป็นความผิดอันยอมความได้

                       2. ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา

                       ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือหรือด้วยวาจาต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอนั้น (ข้อ 4 วรรคแรก) เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์แล้ว ให้แจ้งผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทราบและสอบถามว่าจะยินยอมหรือแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่ (ข้อ 4 วรรคสอง) ทั้งนี้ การแจ้งความประสงค์ดังกล่าว มิใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ข้อ 6)

                                  2.1 กรณีผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายตกลงยินยอมหรือแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอนั้น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแห่งกรณี (ข้อ 3) และแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบ และจัดให้มีการบันทึกการยินยอมหรือความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยไว้ในสารบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญา พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ นั้น (ข้อ 4 วรรคสาม)

                                2.2 กรณีผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการฯ ให้การแจ้งความประสงค์สิ้นผลไป และให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายที่เหลือทราบด้วย (ข้อ 4 วรรคสี่)

                                 2.3 กรณีที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก่อนวันแจ้งความประสงค์ฯ หรือจะระงับก่อนวันที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งให้ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อสอบถามความยินยอมหรือแสดงความจำนง ห้ามมิให้รับข้อพิพาทนั้นไว้ไกล่เกลี่ย และแจ้งให้ผู้แจ้งความประสงค์ทราบโดยพลัน (ข้อ 5)   

                       3. สถานที่ดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา (ข้อ 9)

                       ให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือในกรณีจำเป็นจะกระทำ ณ สถานที่ราชการอื่นตามที่นายอำเภอกำหนดก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายทราบล่วงหน้าตามสมควร

                       4. การดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา

                                 4.1 เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ แล้ว ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอรับข้อพิพาทนั้นไว้ไกล่เกลี่ยต่อไป และแจ้งให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายทราบถึงสิทธิของตนและผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พร้อมทั้งสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท และบันทึกการแจ้งและรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าวไว้ในสารบบฯ (ข้อ 7 วรรคแรก)         

                                 4.2 การบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท ให้บันทึกเฉพาะการกระทำที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทตามที่ได้ความจากผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัน เวลา สถานที่ และบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแล้วให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย นายอำเภอหรือปลัดอำเภอลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน (ข้อ 7 วรรคสองและวรรคสาม) โดยการสอบถามรายละเอียดให้กระทำต่อหน้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย เว้นแต่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาตามที่นัดหมายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งนี้การไกล่เกลี่ยจะกระทำพร้อมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่ในการตกลงกันนั้น ให้กระทำต่อหน้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย (ข้อ 8)             

                            4.3 ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายมีสิทธิให้ผู้ซึ่งตนไว้ใจไม่เกินสองคนเข้ารับฟัง
การไกล่เกลี่ยได้
แต่ในการไกล่เกลี่ยครั้งใด หากนายอำเภอหรือปลัดอำเภอเห็นว่าการมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยจะเป็นอุปสรรคต่อการไกล่เกลี่ย จะมิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมรับฟังก็ได้ (ข้อ 8 วรรคสอง)

                                4.4 นายอำเภอหรือปลัดอำเภออาจเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาเสนอ
ข้อผ่อนผันให้แก่กัน หรืออาจเสนอทางเลือกให้แก่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาผ่อนผันให้แก่กันก็ได้ แต่ห้ามมิให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือชี้ขาดข้อพิพาท (ข้อ 10)

                                 4.5 ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกการไกล่เกลี่ย โดยทำเป็นหนังสือหรือวาจาต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอก็ได้ และเมื่อได้รับการรับการบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้นออกจากสารบบฯ (ข้อ 15)

                       5. กรอบระยะเวลาในการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                    ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับข้อพิพาทไว้ เว้นแต่มีความจำเป็นและผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายยินยอม ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 15 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถตกลงยินยอมกันได้ ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้น (ข้อ 16) ทั้งนี้จะรับข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยอีกมิได้ (ข้อ 17)

                       6. การตกลงในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                       กรณีที่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายตกลงยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจัดทำเป็นหนังสือตกลงยินยอม และบันทึกการตกลงฯ ไว้ในสารบบฯ (ข้อ 11)

                       7. ผลของหนังสือตกลงยินยอม

                       เมื่อได้มีการปฏิบัติตามความตกลงยินยอมแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน และสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ (ข้อ 12 วรรคแรก) และกรณีที่มีการร้องทุกข์หรือยื่นฟ้องต่อศาลไว้ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี (ข้อ 12 วรรสอง)

                       หากผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามความตกลงยินยอมหรือปฏิบัติ
ไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจำหน่ายข้อพิพาทออกจากสารบบฯ (ข้อ 14)

................................................................


ขอขอบคุณ

ส่วนกฎหมาย สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัย
3/12 ถ.อู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทร: 02-637-3000 ต่อ 3367-8


สรุปสาระสำคัญกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553


สรุปสาระสำคัญ

กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 

                   1. นิยามสำคัญ (ข้อ 2)
                             ข้อพิพาท หมายความว่า ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มี ทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
                                 ผู้ไกล่เกลี่ย หมายความว่า บุคคลที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
                       2. ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 11)
                       เมื่อคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ให้แจ้ง ความประสงค์เป็นคำร้องขอต่อนายอำเภอ (จัดทำเป็นหนังสือหรือแจ้งด้วยวาจา) เมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องแล้ว ให้แจ้งคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งทราบและสอบถามว่าประสงค์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทหรือไม่
                                2.1   กรณีที่คู่พิพาททุกฝ่ายตกลงยินยอมเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอแจ้งเป็นหนังสือให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบพร้อมทั้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ ให้คู่พิพาททุกฝ่ายมาพร้อมกัน เพื่อเลือกผู้ไกล่เกลี่ยของตน โดยเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ ตามที่นายอำเภอโดยความเห็นชอบของ คณะกรมการจังหวัดได้จัดทำขึ้น และร่วมกันเลือกว่าจะให้นายอำเภอ พนักงานอัยการจังหวัดประจำกรมหรือปลัดอำเภอ เป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยและให้จัดมีการบันทึกความตกลงยินยอมไว้ในสารบบการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท พร้อมทั้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายลงลายมือชื่อในสารบบฯ โดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยจะมีการประชุมภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีผู้ไกล่เกลี่ยครบถ้วน เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องขอนั้นไว้ดำเนินการต่อไป หรือไม่รับไว้พิจารณาและให้ยุติเรื่อง (ข้อ 12)
                                2.2   กรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการฯ ให้นายอำเภอจำหน่ายคำร้องขอฯ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
                       3. สถานที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 13 วรรคแรก)
                       ปกติให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ แต่ในกรณีจำเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยจะกำหนดให้ดำเนินการ ณ สถานที่ราชการอื่นก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่พิพาททราบล่วงหน้าตามสมควร
                       4. การดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 13 วรรคสอง)
                              4.1    นัดไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งแรก ให้อำเภอส่งหนังสือนัดหมายแจ้งวัน เวลา และสถานที่ ไปยังคณะผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาททุกฝ่ายภายใน 7 วันนับแต่วันที่คณะผู้ไกล่เกลี่ยรับคำร้องขอฯ

                               4.2    นัดไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งต่อๆ ไป ให้ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยเป็นผู้กำหนดและแจ้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ และบันทึกการนัดหมายไว้ในสารบบฯ     
                             4.3   ถ้าคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายไม่มาตามกำหนดที่ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยนัดหมายโดยไม่แจ้งเหตุผล หรือไม่ขอเลื่อนวันนัดหมาย หากเป็นกรณีที่คู่พิพาทยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท หรือคู่กรณีทุกฝ่ายไม่มาตามกำหนดนัด ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายคำร้องขอฯ และสั่งยุติเรื่อง และให้ถือว่าคณะผู้ไกล่เกลี่ยไม่เคยรับคำร้องขอฯ มาแต่ต้น ในกรณีอื่นให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการตามเห็นสมควรต่อไป (ข้อ 14)

                       5. วิธีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของคณะผู้ไกล่เกลี่ย
                          5.1    ก่อนเริ่มต้นกระบวนการไกล่เกลี่ยฯ ให้ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยชี้แจงวิธีการไกล่เกลี่ยฯ ให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ (ข้อ 15) และในการไกล่เกลี่ยฯ ทุกครั้ง คณะผู้ไกล่เกลี่ยต้องมาปฏิบัติหน้าที่ครบทุกคน (ข้อ 16 วรรคแรก)
                                5.2    ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยดำเนินการให้คู่พิพาทเสนอข้อผ่อนผันให้แก่กัน หรือ คณะผู้ไกล่เกลี่ยอาจเสนอทางเลือกในการผ่อนผันให้แก่คู่พิพาท แต่ห้ามมิให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยชี้ขาดข้อพิพาท (ข้อ 16 วรรคสอง)
                                5.3   ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อพิพาทจากคู่พิพาททุกฝ่ายต่อหน้า คู่พิพาทพร้อมกัน โดยจะไกล่เกลี่ยพร้อมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่ในการตกลงกันนั้นให้กระทำต่อหน้าคู่พิพาททุกฝ่าย (ข้อ 16 วรรคสาม)
                       6. การนับอายุความ
                    ให้ถือวันที่คู่พิพาทแจ้งความประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เป็นวันยื่นข้อพิพาท กรณีที่แจ้งความประสงค์ โดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่อำเภอได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการสะดุดหยุดลงของอายุความในการฟ้องร้องคดี (ข้อ 18)
                       7. การบอกเลิกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 19)
                             ในระหว่างการดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไม่สมัครใจที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยฯ ต่อไป คู่พิพาทฝ่ายนั้นมีสิทธิบอกเลิกการไกล่เกลี่ยฯ ต่อประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย โดยทำเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้ และให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายคำร้องขอฯ และสั่งยุติเรื่องและให้ถือว่าคณะผู้ไกล่เกลี่ยไม่เคยรับคำร้องขอฯ มาแต่ต้น
                       8. กรอบระยะเวลาในการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท (ข้อ 21)
                    ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่นายอำเภอได้ลงเรื่องในสารบบฯ เว้นแต่มีความจำเป็นและคู่พิพาทยินยอม ให้ขยายระยะเวลาได้อีกครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหนึ่งปี หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ข้อยุติ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น        

                       9. การตกลงในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท

                                 9.1    กรณีที่คู่พิพาทไม่อาจตกลงกันได้ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น (ข้อ 22)
                                 9.2    กรณีที่คู่พิพาทตกลงกันได้ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่พิพาท โดยให้คู่พิพาททุกฝ่ายและคณะผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อด้วย และให้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมฯ มีผลผูกพันคู่พิพาท (ข้อ 23)
                       10. ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ
                       ข้อเรียกร้องเดิมของคู่พิพาทระงับสิ้นไป และทำให้คู่พิพาทได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมฯ (ข้อ 24)
                           หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อต่อพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจรับผิดชอบ และให้พนักงานอัยการดำเนินการ ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน  3 ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ เพื่อให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม (ข้อ 25)

................................................................



ขอขอบคุณ

ส่วนกฎหมาย สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัย
3/12 ถ.อู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทร: 02-637-3000 ต่อ 3367-8