วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

สัญญาประนีประนอมยอมความ ใครจะเป็นผู้ที่จัดทำได้บ้าง

             ผู้อ่านหลายท่านต้องรู้จักกับสัญญาประนีประนอมยอมความ อาจเคยเป็นผู้จัดทำหรือได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังมา หากท่านใดเคยขึ้นศาล ก็จะยิ่งต้องรู้จักดีใหญ่เลย





           เรามาย้อนดูกันก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความคืออะไร จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนะครับ
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติไว้ว่า อันว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
           สัญญาประนีประนอมยอมความ มี ๒ ประเภท คือ สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล กับสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล
           สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาต้องไปฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับอีกฝ่าย ฐานผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
           ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล เนื่องด้วยมีการฟ้องคดีต่อศาลก่อนแล้วและคดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อศาลพิพากษาให้ตามสัญญาแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ศาลสามารถบังคับคดีให้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อีก   

           เนื่องจากที่เราคุยกันนี้ เป็นเรื่องของการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในเรื่องที่ยังไปไม่ถึงศาล เพื่อที่จะให้คู่พิพาทได้ตกลงยุติข้อพิพาทและยังเป็นการติดเบรกข้อพิพาทนี้มิให้ขึ้นไปสู่ศาล ดังนั้นเราจะคุยถึงเฉพาะสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาลนะครับ 
           รูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลทั่วๆ ไป จะเขียนบนกระดาษขนาดใดก็ได้ แต่ต้องมีสาระสำคัญที่ประกอบด้วย
           - ชื่อหัวกระดาษระบุว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ
           - สถานที่ทำสัญญา
           - วันเดือนปี ที่ทำสัญญา
           - ชื่อ อายุ (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) ที่อยู่หรือภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย
           - ข้อความที่คู่สัญญาได้เจรจาและตกลงจะให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำสิ่งใดบ้าง ต้องให้
ชัดเจนและปฏิบัติได้
           - ข้อความว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดและต่างจะไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและ
คดีอาญาใดๆกันอีกต่อไป
           - ข้อความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความนี้ทำขึ้นเป็นสองฉบับมีข้อความถูกต้องตรงกัน ทั้ง
สองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจในข้อตกลงข้างต้นเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้า พยานและต่างได้ถือกันไว้ฝ่ายละฉบับ ต้องลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย หากเป็นลายเซ็น ให้มีชื่อตัวบรรจงในวงเล็บใต้ลายเซ็นนั้น
           - ควรต้องมีพยานลงลายมือชื่อไว้ด้วย จะหนึ่งคนหรือสองคนก็ได้
           สัญญา หมายถึง นิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายที่เกิดจากการแสดงเจตนาเสนอ สนองต้องตรงกันของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปที่มุ่งจะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงหรือระงับนิติสัมพันธ์ สัญญาจึงจำเป็นต้องมีลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย หากมีลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียว อาจจะเป็นเพียงคำเสนอหรือคำมั่นที่จะผูกพันฝ่ายที่ลงลายมือชื่อไว้ฝ่ายเดียวได้
           ทีนี้มาดูว่าลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ สำคัญอย่างไร
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
        อ่านกฎหมายมาตรานี้แล้วบางท่านอาจสงสัยว่า เมื่อกี้บอกว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย แต่ในกฎหมายมาตรานี้บอกว่า....ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จะหมายความว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้มีลงชื่อไว้ฝ่ายเดียวใช่หรือเปล่า แล้วจะใช้บังคับกันได้รึ 
           หากสงสัยเช่นนี้ ผู้เขียนขอขยายให้เข้าใจโดยสมมุติว่า ในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ เมื่อเขียนสาระสำคัญเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการลงชื่อ แต่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงลายมือชื่อ อาจเกิดปวดท้อง หรือเกิดติดธุระด่วน รอไม่ได้ขอไปธุระก่อน แล้วจะกลับมาลงชื่อภายหลัง แต่แล้วก็หายไป ไม่ได้มาลงชื่อจนกระทั่งฝ่ายที่ไม่ได้ลงชื่อเกิดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีนี้ก็จะไปฟ้องคดีเอากับฝ่ายที่มิได้ลงลายมือชื่อไม่ได้ ดังนั้นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างที่ร่างทำสัญญาอยู่นั้น หากฝ่ายที่ต้องรับผิดตามที่จะร่างในสัญญาเกิดเปลี่ยนใจ คิดจะหลบ อาจอ้างอุบายสารพัดที่จะลุกหนีออกไป ก็อย่ายอมนะครับ ล็อคตัวไว้ อ้างปวดท้องก็บอกให้ราดตรงนั้นเลย อ้างต้องโทรศัพท์ติดต่อคนอื่นด่วนแต่แบตเตอรี่โทรศัพท์หมด จะออกไปโทร.หยอดเหรียญ ก็จงบอกให้เอาเครื่องของเราโทร.ได้ตอนนี้เลย ผู้เขียนเคยเจอเช่นนี้มาแล้ว เรื่องเกิดที่สถานีตำรวจ อีกฝ่ายอ้างจะโทรศัพท์แต่แบต.หมด ผู้เขียนก็ส่งโทรศัพท์ให้ไป พี่ท่านก็รับเครื่องของผู้เขียนแล้วเดินออกจากห้องสอบสวน ผู้เขียนลุกตามไปด้วย เขาเดินเลี่ยงไปทางใต้ต้นไม้ แต่อยู่ภายในสายตาของผู้เขียน เขาหันหลังให้ทำเป็นกดเบอร์โทร.ออก แล้วส่งเสียงคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ สักพักก็เดินมาส่งโทรศัพท์คืน หลังจากเสร็จเรื่องแล้วแยกย้ายกันกลับ ผู้เขียนก็กดเครื่องโทรศัพท์ดูหมายเลขที่เขาโทร.ออก ด้วยกลัวว่าเขาจะโทร.ไปเมืองนอก ปั้ดโธ่ กดเบอร์ 92 มันเป็นหมายเลขอะไรน่ะ ทำเป็นคุยเป็นคุ้งเป็นแคว มียิ้ม มีพยักหน้าอีกด้วยต่างหาก
           กลับเข้าไปดูในมาตรา ๘๕๑ ตรงคำว่า ....ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ.... นั่นหมายความว่า ฝ่ายที่ต้องรับผิด มิได้มีแต่ฝ่ายผู้ถูกร้องนะครับ ในบางกรณี ผู้ร้องก็อาจต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เช่น ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ตกลงว่าให้อีกฝ่ายกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฝ่ายตนก็จะงดเว้นการกระทำหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป เช่นนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุที่จะฟ้องอีกฝ่ายเท่าๆ กัน หากไม่ทำตามที่ตกลงในสัญญาฯ 
           เมื่อทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อกันแล้ว จะมีผลอย่างไรเกิดขึ้นบ้าง
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
           หมายถึงก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต่างฝ่ายต่างอาจมีสิทธิเรียกร้องต่อกันมากมาย มากจนขัดแย้งกัน แต่เมื่อได้มีการไกล่เกลี่ยกันแล้ว ต่างได้ลดราวาศอกลงเพื่อให้ยุติข้อพิพาทด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน บรรดาข้อเรียกร้องที่มากมายนั้นก็จะระงับ จะสิ้นไป เกิดเป็นสิทธิเรียกร้องใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้นั่นเอง
           ยกตัวอย่าง : นายไก่มีที่ดินติดกับบ้านนายไข่ อยู่มาวันหนึ่งนายไข่ได้แอบย้ายหลักเขตที่ดินขยับเข้าไปในที่ดินของนายไก่ ด้วยหวังจะเพิ่มเนื้อที่ของตนโดยมิชอบ เมื่อนายไก่ทราบภายหลัง จึงได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับนายไข่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๓ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(เป็นความผิดที่ยอมความได้) เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวนายไขไปที่สถานีตำรวจ ได้มีการไกล่เกลี่ยจนจบลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน(เป็นการบันทึกข้อความที่ตกลงกันลงในบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ที่เราเรียกกันว่า ลงประจำวัน.....ผู้เขียน) โดยที่นายไข่ตกลงยินยอมย้ายหลักเขตกลับที่เดิมให้ตรงตามโฉนดพร้อมทั้งจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายไก่ ๑๐,๐๐๐ บาท นายไก่ก็ตกลงว่าจะถอนแจ้งความ ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญากับนายไข่อีกต่อไป เช่นนี้ ถือว่าสิทธิที่นายไก่จะดำเนินคดีอาญากับนายไข่ได้ระงับสิ้นไป แต่ได้สิทธิใหม่คือจะได้รับเงินค่าเสียหายจากนายไข่เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทและนายไข่จะเป็นผู้ย้ายหลักเขตกลับมายังจุดเดิม  
           ผู้เขียนมีตัวอย่างของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันนอกศาล เป็นคดีที่ผู้เขียนเป็นทนายความฝ่ายลูกหนี้ ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลให้ลงโทษลูกหนี้ผู้เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ หนี้ตามเช็คที่ฟ้องเกือบสองล้านบาท แต่ได้มีการเจรจาต่อรองกันจนเหลือที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนอกห้องพิจารณาคดี แล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็นำสัญญาฯ นี้เข้าไปแถลงต่อศาลขอถอนฟ้องลูกหนี้ผู้เป็นจำเลย เป็นตัวอย่างสัญญาประนีประนอมยอมความที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้เพื่อให้ต้องรับโทษทางอาญาได้ระงับสิ้นไปและเจ้าหนี้ก็ได้สิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ตามที่ระบุในสัญญาฯ คือจะได้เงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สัญญาดังเช่นฉบับตัวอย่างนี้ แม้โจทก์จะไม่นำเข้าไปแถลงขอถอนฟ้องต่อศาล แต่สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ต่อจำเลยได้หมดสิ้นไปเมื่อได้ยกปากกาขึ้นหลังจากลงชื่อโจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้ว แต่การที่ต้องไปแถลงให้ศาลทราบนี้ ก็เพื่อที่ศาลจะได้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปครับ)

                             ---------------------------------------------------------------------------------

สัญญาประนีประนอมยอมความ

                           สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ระหว่าง บริษัท ………………………………..…ผู้รับมอบอำนาจ อยู่เลขที่………ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า เจ้าหนี้ ฝ่ายหนึ่ง กับ……………………………..อยู่บ้านเลขที่…………………………..จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ลูกหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้มีผลผูกพันกันดังต่อไปนี้

                           ตามที่บริษัท ………………………………..… จำกัด ซึ่งมีลูกหนี้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ได้ร่วมลงลายมือชื่อลงในเช็คธนาคาร …………………...(มหาชน) สาขา………………สั่งจ่ายเงิน ๑,๙๘๕,๐๐๐ บาท(หนึ่งล้านเก้าแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ตามสัญญา………………………..… และต่อมาเมื่อเจ้าหนี้นำเช็คฉบับดังกล่าวส่งเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่ายเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เจ้าหนี้จึงได้นำเช็คและใบคืนเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๔ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่………..…ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท……………………จำกัด นั้น
                           ข้อ ๑. ลูกหนี้ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยจะผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๑๐ เดือน เริ่มชำระเดือนแรกวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ และต่อไปทุกวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปจนครบ ๑๐ เดือน
                           ข้อ ๒. เจ้าหนี้ตกลงยุติการดำเนินคดีกับลูกหนี้ทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท ………………………..… จำกัด โดยถอนฟ้องลูกหนี้ที่ได้ยื่นฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่ คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๘๐๒๕๕๔ ออกเสียจากสารบบความ และจะไม่ดำเนินคดีทางแพ่งใดๆ เพื่อให้ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้หนี้ตามเช็คฉบับดังกล่าวทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจของบริษัท …………………………..…จำกัดอีกต่อไป
                           ข้อ ๓. หากลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดหรือผิดนัดทั้งหมด ลูกหนี้ยินยอมให้เจ้าหนี้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของส่วนที่ค้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
                           ข้อ ๔. เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงตามข้อ ๑ ๓ และต่างจะได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เพื่อให้มีผลตามกฎหมายต่อไป
                           สัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ทำขึ้นเป็นสองฉบับ มีข้อความตรงกัน ต่างได้อ่านและเข้าใจข้อความดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเพื่อเป็นหลักฐาน

                                                ลงชื่อ........................................................เจ้าหนี้
                                                           (………………………………..…)

                                                ลงชื่อ......................................................ลูกหนี้
                                                         (………………………………..… )

                                                 ลงชื่อ........................................................พยาน
                                                           (………………………………..…) 

                                                ลงชื่อ......................................................พยาน
                                                         (………………………………..…)

-                -----------------------------------------------------------------------------------------------------------

              สงสัยมั๊ยครับ ว่าผู้เขียนเขียนมาซะมากมาย ยังไม่เห็นเข้าหัวข้อเลยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ใครจะเป็นผู้ที่จัดทำได้บ้าง ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบกันมาก่อนแล้วว่า ผู้ที่จะเป็นผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จะเป็นใครก็ได้ ที่สามารถเข้าใจและเขียนระบุใจความสาระสำคัญลงในสัญญาตามที่ผู้เขียนกล่าวในช่วงแรกๆ ไม่จำเป็นที่ผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ย, ผู้ประนีประนอมประจำศาล ฯลฯ
           ผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จะเป็นใครก็ได้ที่สามารถเป็นตัวกลางในการช่วยพูดกล่อมให้คู่พิพาทตกลงยุติข้อพิพาทกันได้ เขียนที่ไหน ทำที่ไหนได้ทั้งนั้น และการที่เป็น ใครก็ได้ นี้ ใครคนนั้นก็สามารถใช้ลูกล่อลูกชน ชี้นำ ชี้ขาดในเรื่องที่พิพาทกันได้ เพราะคู่พิพาทอาจเป็นลูกหลานหรือคนที่เคารพใครคนนั้น ก็จะมีความเกรงใจยอมยุติได้ ซึ่งต่างกับผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎกระทรวงฯ ผู้ประนีประนอมของศาล พนักงานอัยการ หรือทนายความ ที่มีกฏระเบียบห้ามชี้นำหรือชี้ขาด แต่ใครก็ได้นี้ จะต้องยึดเอาความถูกต้อง เป็นธรรมและยุติธรรมเป็นที่ตั้งในการเข้าไกล่เกลี่ย เพราะหากขาดสิ่งนี้แล้ว ใครคนนั้นก็คงจะไม่ทันได้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนเสร็จสิ้นอย่างแน่ๆ

ข้อสังเกต : การทำสัญญาประนีประนอมยอมความของคณะผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง เป็นการทำกันนอกศาล แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ก็มิต้องนำสัญญานี้ไปฟ้องศาล เพียงแต่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับไปยังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก่อนที่จะบังคับคดีเท่านั้นเอง เพราะมีกฎหมายออกมารับรองผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยคณะผู้ไกล่เกลี่ยฯ โดยเฉพาะครับ
           ท่านใดมีความเห็นว่าผู้เขียนเข้าใจผิดหรือมีความเห็นที่ต่างกว่าหรือเพิ่มเติม ขอกรุณามาบอกมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเติมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านกันนะครับ
ขอขอบคุณมาล่วงหน้าครับ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเติมครับ

              สำหรับคดีที่ผู้เขียนนำสัญญาประนีประนอมยอมความมาเป็นตัวอย่างนี้ หากผู้อ่านสงสัยว่าหนี้ตามเช็คเกือบสองล้านบาท แต่เจรจาต่อรองเหลือสามแสนบาท เป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายดังนี้นะครับ
              เช็คที่เจ้าหนี้นำมาฟ้องลูกหนี้ ข้อเท็จจริงเป็นเช็คค้ำประกัน บริษัทลูกหนี้เป็นลูกค้าประจำของเจ้าหนี้ กู้ยืมเงินมาหลายครั้งแล้ว ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในนามกรรมการผู้มีอำนาจขณะรับวงเงินที่กู้ โดยไม่ได้กรอกลงจำนวนเงินและวันที่ในแต่ละครั้งแล้วส่งมอบเช็คนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ ส่วนหนี้เงินสดที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้เจ้าหนี้ไปรับเงินจากเจ้าของงานที่ลูกหนี้ไปรับเหมาเป็นงวดๆ จนครบ เมื่อรับเงินงวดสุดท้ายมาแล้ว เจ้าหนี้ก็จะคืนส่วนต่างให้แก่ลูกหนี้ ทีนี้เช็คที่เจ้าหนี้นำมาฟ้องนี้ เป็นเช็คที่ค้ำประกันงานหนึ่งที่บริษัทลูกหนี้ทำงานไม่เสร็จ จึงไม่ได้เงินจากผู้ว่าจ้าง เจ้าหนี้ก็เลยไม่ได้รับเงินที่ลูกหนี้กู้คืนมา จึงนำเช็คมากรอกลงจำนวนเงิน ลงวันที่แล้วนำมาฟ้อง ซึ่งเช็คค้ำประกันนี้จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตัวลูกหนี้ก็ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทมาหลายปีแล้ว
               ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ได้มีการเจรจากันต่อหน้าศาล ลูกหนี้แถลงศาลว่าเช็คเขียนจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่แรกวันที่ทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นการค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้บอกว่าพึ่งได้รับเช็คจากลูกหนี้หลังจากที่ไม่ได้รับการใช้เงินคืน ผู้เขียนเลยถามเจ้าหนี้ว่า หากมีการไต่สวนมูลฟ้อง พยานฝ่ายเจ้าหนี้จะเบิกความตามที่อ้างนี้หรือไม่ พยานฝ่ายเจ้าหนี้บอกตนจะเบิกความตามนี้ ศาลก็เลยถามเจ้าหนี้ว่าหากสืบได้ว่าเป็นเช็คที่จ่ายมาก่อนแล้ว จะถือว่าพยานเจ้าหนี้เบิกความเท็จนะ ลองไปเจรจากันนอกห้องก่อน เพราะแม้จะยกฟ้องในคดีอาญา แต่ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดทางแพ่งตามจำนวนเงินในเช็คอยู่ดี จึงออกไปเจรจากันนอกห้อง ประเด็นที่เจรจาคือหากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พยานฝ่ายเจ้าหนี้เบิกความที่ลูกหนี้ถือว่าเป็นการเบิกความเท็จ ลูกหนี้ก็จะฟ้องพยานเจ้าหนี้ว่าเบิกความเป็นเท็จ มีโทษทางอาญา ถึงแม้ลูกหนี้ยังจะต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวตามหนี้ในเช็คเกือบสองล้านบาท แบบว่าจะแลกกันมั๊ย ฝ่ายเจ้าหนี้เลยบอกขอให้ลูกหนี้รับผิดชอบในฐานะส่วนตัวเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือทางเจ้าหนี้จะเรียกร้องเอากับบริษัทที่ลูกหนี้เคยเป็นกรรมการเอง แล้วเลิกคดีอาญานี้ต่อกัน กับจะไม่ฟ้องทางแพ่งใดๆ กับลูกหนี้อีก ทั้งๆ ที่ลูกหนี้ก็ไม่น่าจะต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวกับเงินถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาทนี้เลย เพราะทำในนามบริษัท เวลาได้กำไร ตัวลูกหนี้ก็ไม่เคยได้รับส่วนแบ่ง แต่พอขาดทุนกลับมาลงให้ลูกหนี้รับผิดในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามบริษัท แต่ในข้อกฎหมายตัวลูกหนี้จะปฏิเสธความรับผิดในฐานะส่วนตัวไม่ได้ ก็เลยต้องตกลงตามนั้น
          แค่นี้เองครับ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการใช้ความสามารถที่เหนือกว่าปกติ เป็นเพียงความคิดพื้นๆ ธรรมดาๆ เช่นบุคคลอย่างเราๆ ท่านๆ มีอยู่กันทุกคนแหละครับ ท่านผู้อ่านก็คิดได้ ทำได้เช่นกัน



4 ความคิดเห็น:

  1. โจทย์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำของ 100000 บาทจากจำเลยตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน จำเลยให้การว่าโจทย์ก่อสร้างผิดพลาดหลายประการ
    จำเลยจึงยังไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่จำเลยและโจทย์ตกลงกันได้แล้วตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ ถ้าโจทย์ไม่ได้คัดค้าน
    ความถูกต้องแท้จริงของหนังสือประนีประนอมยอมความที่ส่งมาพร้อมคำให้การจำเลยจะนำสืบสำเนาสัญญาประณีประนอมยอมความแทน
    ต้นฉบับได้หรือไม่

    ตอบลบ
  2. โจทย์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำของ 100000 บาทจากจำเลยตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน จำเลยให้การว่าโจทย์ก่อสร้างผิดพลาดหลายประการ
    จำเลยจึงยังไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่จำเลยและโจทย์ตกลงกันได้แล้วตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ ถ้าโจทย์ไม่ได้คัดค้าน
    ความถูกต้องแท้จริงของหนังสือประนีประนอมยอมความที่ส่งมาพร้อมคำให้การจำเลยจะนำสืบสำเนาสัญญาประณีประนอมยอมความแทน
    ต้นฉบับได้หรือไม่

    ตอบลบ
  3. ขออภัยที่เข้ามาช้ามากๆ ป่านนี้คดีคงจะเดินหน้าไปจนเสร็จแล้วกระมังครับ

    ท้ายสัญญาประนีประนอมฯ ระบุไว้ว่าทำกันไว้ 2 ฉบับ เก็บไว้คนละฉบับรึเปล่าครับ กรณีนี้ถือว่าเป็นเอกสารที่ฝ่ายโจทก์มีอยู่แล้ว ก็ไม่จำต้องส่งสำเนาและสามารถนำสืบและถามค้านตัวสำเนาที่เรามีอยู่ได้ครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ21 มีนาคม 2559 เวลา 19:40

    ขอบคุณที่ให้ความแนะนำครับ

    ตอบลบ